ศบศ.ไฟเขียวแผนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เตรียมเสนอ ครม.ขอ 5 หมื่นล้านบาท เติมเงินใส่บัตรคนจนเพิ่ม 500 บาท 3 เดือน ครอบคลุม 14 ล้านคน พร้อมเห็นชอบโครงการ 'คนละครึ่ง' แจก 3,000 บาทใช้ซื้อของในร้านค้าโชห่วย คาดมี 10 ล้านคน - ร้านค้า 1 แสนแห่งได้ประโยชน์
--------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 3/2563 โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ดังนี้
1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาทรวมระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.2563 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรจำนวน 14 ล้านคน
ส่งผลให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 กลุ่มจะได้รับเงินเพิ่มเติม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3.6 ล้านคน ปัจจุบันได้ 300 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่ 2 ผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 10.3 ล้านคน ปัจจุบันได้ 200 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 700 บาทต่อเดือน
2.โครงการคนละครึ่ง โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์โดยอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) ในอัตรา 50% แต่ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com สำหรับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้าจำนวน 100,000 แห่ง ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ตั้งแต่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2563
ทั้งนี้ สำหรับโครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการคนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 21,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้คนที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (Permanent Resident Permit) และแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็น กรณีพิเศษ (Smart Visa) เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบศ. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณาจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมแก้ไขปรับปรุง Smart Visa ให้เชื่อมโยงกับการลงทุน อาทิ การซื้ออาคารชุดและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เงินขั้นต่ำและสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังได้รับมอบหมายให้กลับไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม Elite Card เชื่อมโยงการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการลงทุนด้วย
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา (Credit term) ในประเทศไทย เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SMEs ที่เป็นผู้จัดส่งสินค้าและวัตถุดิบการผลิต (Supplier) แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดมาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่เหมาะสมช่วงระยะเวลา 30 – 45 วัน ตามประเภทธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย พร้อมกำหนดบทลงโทษ กรณียกเว้น และกลไกการติดตามตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ได้ชี้แจ้งว่า บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ก็กำหนด Credit term ในระยะเวลา 30 วัน ด้วย
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของเชื้อโควิด ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคมเป็นประธาน ดำเนินการผลักดันขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 คือ การเรงรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้งาพื้นฐาน รวม 7 โครงการ คือ โครงการเส้นทางรถไฟ โครงการระบบขนส่งมวลชน โครงการทางพิเศษ โครงการพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ Land bridge และโครงการศูนย์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มที่ 2 คือ การปรับปรุงโครงสร้างหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 4 มาตรการ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและสำนักงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งบริษัทบริหาร สินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบริหารรถไฟ ความเร็วสูง และการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....
กลุ่มที่ 3 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการ ดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อการปรับปรุงบริหารเงินกองทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
และกลุ่มที่ 4 คือ การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการสะพานไทย โดยก่อสร้างสะพานจากจังหวัดชลบุรีมายังจังหวัดเพชรบุรี
ศบศ.ยังรับทราบสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวที่มีการชดเชยวันสงกรานต์เมื่อวันที่ 4-7 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทาง 3.1 ล้านคน อัตราเข้าพักอยู่ที่ 41% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชาชนทยอยออกมาใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันมากขึ้น คิดเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงวันหยุดมูลค่า 12,421 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นตัวเลขสูงกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ยังต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ
ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินการตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเชื้อโควิด โดย พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 238 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 395,685 ล้านบาท , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินผู้ประกอบการวิสาหกิจวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 115,520 ล้านบาท มีผู้ได้รับสินเชื่อ 69,086 ราย ทั้งนี้หากคิดผลรวมของมาตรการทั้ง 3 ระยะ คิดเป็นเม็ดเงินรวม 780,366 ล้านบาท หรือ 32% ของกรอบวงเงินรวม
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage