(
ดีเอสไอแพร่ข่าวปมรุกที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต 100 ไร่ แฉมีขบวนการจัดทําเอกสาร แบบ ทป.4 กรมป่าไม้ เชื่อทำโดยพลการ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เรียกสอบ จนท.ผู้เกี่ยวข้องแล้ว 1 ราย
...............................
สืบเนื่องจาก วันที่ 14 ก.ย.2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า น.ส. กชกร บุษราภรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง และนางกาญจนา ตัณทราวัฒน์พันธ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต ได้ส่งมอบเอกสารการจัดตั้งวิทยาลัยและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้วิทยาลัยเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ให้แก่นายเจตนา เหมมุน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมและการข่าว กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ และนายภัทรพล จิ๋วหนองโพธิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่ง ตามคำสั่งของ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ตามที่ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนหน้านี้ ระบุว่า มีกลุ่มบุคคลได้บุกรุกถือครองพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง โดยปักรั้ว เข้ามาในพื้นที่วิทยาลัยประมาณ 100 ไร่
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :อธิบดีดีเอสไอส่งลูกน้องสอบปมบุกรุกที่ดินวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต 100 ไร่ )
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรารายงานว่าได้ออกเอกสารข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก วิทยาลัยเทคนิคถลาง จังหวัดภูเก็ต มีหนังสือร้องทุกข์มายังกรม สอบสวนคดีพิเศษ กรณีมีเอกชนบุกรุกพื้นที่วิทยาลัยกว่า 100 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว กรมอาชีวศึกษา (สํานักงาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้เข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางขนุน ตามประกาศกรมป่าไม้ เรื่อง กําหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าใช้ ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2540 ลงวันที่ 23 มกราคม 2540 เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค ภูเก็ตแห่งที่ 2 (วิทยาลัยเทคนิคถลาง) จํานวนเนื้อที่ 142 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2540 - 22 มกราคม 2570 ซึ่งปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคถลางได้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 40 ไร่ โดยมีการก่อสร้างอาคารที่ทําการของสํานักงานวิทยาลัย อาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ บ้านพักของ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 100 ไร่เศษ อยู่ระหว่างวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยพื้นที่ ดังกล่าวมีมูลค่าที่ดินประมาณ 15 - 33 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งหากปล่อยให้บุคคล หรือนายทุน บุกรุกเพื่อประโยชน์ ส่วนตัว อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อรัฐได้
จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ส่วนที่เหลือดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของอาคารต่าง ๆ ของ วิทยาลัย มีสภาพเป็นพื้นที่เนินสูง มีความลาดชันซึ่งคาดว่าเกิน 35% สภาพเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ ขนาดใหญ่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ และมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ สามารถมองเห็นภูมิประเทศโดยรอบได้อย่าง ชัดเจน ทั้งนี้ โดยรอบวิทยาลัยเทคนิคถลางมีการปักเขตทําแนวรั้วลวดหนามทั้ง 4 ด้าน ซึ่งได้ดําเนินการมา ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน 2563 และจากการเดินสํารวจพบว่าผู้บุกรุกได้มีการนําเสาปูนมาทําเป็นแนวเขต ที่ดิน พร้อมทั้งมีการสร้างขนําอยู่ในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น เชื่อว่ามีการจัดทําเอกสารแบบบันทึกการใช้ที่ดินของบุคคลในพื้นที่ป่าไม้ (แบบ ทป.4) ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของราชการกรมป่าไม้ และ เชื่อว่าการจัดทําเอกสารดังกล่าวน่าจะมีการทําขึ้นโดยพลการ ตลอดจนพบว่ามีขบวนการที่มีความซับซ้อน อันอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ซึ่งจะได้รวบรวมข้อมูล และเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รายงานเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่งการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป
แหล่งข่าวจากดีเอสไอเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 นายเจตนา เหมมุน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมและการข่าว กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ดีเอสไอ ได้เชิญเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งไม่ลงรายชื่อในหนังสือเอกสาร ทป.4 มาสอบปากคำ เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ได้ให้รายละเอียดว่า แบบ ทป.4 เป็นเอกสารที่ใช้ในการสำรวจพื้นที่ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า ในส่วนของ สวนป่าบางขนุน ไม่เข้าเกณท์ที่จะสามารถสำรวจหรือให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้พื้นที่ได้ เว้นแต่หน่วยงานราชการ เนื่องจากว่า สวนป่าบางขนุน นั้น เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้จัดสรรเงินงบประมาณในการปลูกป่าเต็มพื้นที่ 5,000 ไร่ และมีการใช้เงินงบประมาณบำรุงรักษาป่าที่ปลูกตลอดมา
แหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่รายเดียวกันเปิดเผยอีกว่า สาเหตุที่ตนไม่ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสาร แบบ ทป. 4 เนื่องจากว่า คณะที่ดำเนินการไม่มีอำนาจและหน้าที่ ในการดำเนินการสำรวจ อำนาจในการที่จะใช้พื้นที่ป่าเพื่อการสำรวจนั้น จะต้องมีโครงการมาก่อน และ ผู้ที่ใช้อำนาจคือ อธิบดีกรมป่าไม้ เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันผู้มีหน้าที่ที่ทำการสำรวจก็จะเป็นผู้ที่มีการสั่งการจากอธิบดีกรมป่าไม้ เอกสารที่กล่าวอ้างถึง ไม่มีการสั่งการจากอธิบดีกรมป่าไม้ และ ผู้ที่ริเริ่มโครงการก็ไม่มีอำนาจให้ดำเนินการหากมีการสั่งการให้เนินการก็ถือว่าเป็นการสั่งการโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายละเว้นในการปฎิบัติหน้าที่ ส่วนผู้ที่อาศัยอำนาจในการสำรวจ ก็น่าจะเข้าข่ายสำรวจโดยไม่มีกฏหมายรองรับ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ส่วนเอกสารที่ออกมานั้น ไม่อยู่ในสาระบบในเอกสารของกรมป่าไม้
“ในช่วงที่มีการสำรวจนั้น ผู้ที่ลงนามในเอกสาร อาจจะเป็นอดีตข้าราชการ แต่ ไม่น่าจะมีอำนาจหน้าหน้าที่ในการสำรวจ ส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ลงนามไว้ในเอกสารรายหนึ่งปัจจุบันยังคงรับราชการอยู่ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช”แหล่งข่าวกล่าว
Z
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage