ไทม์ไลน์กำหนดเวลาประชุมสภาก่อนปิดสมัยประชุม 9 ก.ย.อภิปรายทั่วไปซักถามปัญหา ครม. โดยไม่ลงมติ ให้เวลาฝ่ายค้าน 10 ชม. 16-22 ก.ย. ส.ส.-ส.ว.ถกงบปี 64 – 23-24 ก.ย.พิจารณาแก้ไขร่าง รธน. ให้เวลาพรรคร่วม รบ.-ฝ่ายค้านเท่ากัน 8 ชม.
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดวัน เวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา ตาม พ.ร.ฎ.2 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ. ขยายเวลาประชุมรัฐสภาครั้งที่หนึ่ง และพ.ร.ฎ. ปิดสมัยประชุมวันที่25 ก.ย.63 โดยมีรายละเอียดดังนี้ วันที่ 1 ก.ย. 63 ประชุมรัฐสภา โดยเริ่มประชุมเวลา 09.00-21.00น. ใช้เวลารวม 12 ชั่วโมง
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า วันที่ 9 ก.ย.63 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เริ่มประชุมเวลา 09.30 – 00.00 น. หรือจนกว่าการพิจารณาเสร็จสิ้น โดยจัดสรรเวลา ดังนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)และพรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง ส่วนวันที่10 ก.ย.63 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยเริ่มประชุมเวลา 09.00-19.00น.
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16-18 ก.ย.63 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วาระที่ 2-3 ) โดยเริ่มประชุมเวลา 09.00-00.00 น. วันที่ 21-22 ก.ย.63 วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ส่วนวันที่ 23-24 ก.ย.ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ.2560 โดยเริ่มประชุมเวลา 09.30-23.30 น. น. ใช้เวลารวม 24ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาดังนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง และวุฒิสภา 8 ชั่วโมง โดยประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อนุญาตให้บรรจุญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของพรรคร่วมฝ่ายค้านในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอญัตติเพื่อแก้ไขเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน และประเด็นที่มีผลกระทบต่อประเทศประมาณ180 ญัตติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีดำริให้เปิดการประชุมเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาไม่ให้มีญัตติคั่งค้างในสภาฯ โดยปัจจุบันคงเหลือ 135 ญัตติ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage