ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย' อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ปี 45 ล่าสุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 ปี - ส่วนพวก โดนคนละหลายปี 'สาคร ประไพพงษ์' รองอธิบดีฯ 12 ปี 'อิทธิวดี หรือพิชญ์สินี จิระวัฒน์' จนท.วิเคราะห์นโยบายฯ หนักสุด 17 ปี
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กับพวก ประกอบไปด้วย นายสาคร ประไพพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (ในขณะนั้น) นายสุพจน์ ชัยวิมล นายรังสรรค์ กองเงิน นายอนุรัตน์ เซียงเห็น นายสุวิช หรือทรงพล ทาเจริญ นายนิพนธ์ เทียมหงษ์ นางอิทธิวดี หรือพิชญ์สินี จิระวัฒน์ กรณีทุจริตในการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก) ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2545
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา 149 , 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 , 11 , 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ว่า นายสุวิช หรือทรงพลทาเจริญ ในฐานะจำเลยที่ 6 และ นายนิพนธ์ เทียมหงษ์ ในฐานะจำเลยที่ 7 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี
ส่วน นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย จำเลยที่ 1 ผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 , 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตรม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี
นายสาคร ประไพพงษ์ จำเลยที่ 2 ผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 , 11, 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 11 ให้จำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี และ พ.ร.บ.ฮั้ว ตามมาตรา 12 ให้จำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี
ส่วน นายสุพจน์ ชัยวิมล จำเลยที่ 3 นายรังสรรค์ กองเงิน จำเลยที่ 4 นายอนุรัตน์ เซียงเห็น จำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี
นางอิทธิวดี หรือพิชญ์สินี จิระวัฒน์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่หนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี และ พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่หนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี และฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับนายสุวิช หรือทรงพล ทาเจริญ ในฐานะจำเลยที่ 6 และ นายนิพนธ์ เทียมหงษ์ ในฐานะจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี และตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 ให้จำคุก นางอิทธิวดี หรือพิชญ์สินี จิระวัฒน์ จำเลยที่ 8 มีกำหนด 6 ปี รวมโทษจำคุก มีกำหนด 17 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์แจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 12 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/