ประธาน ป.ป.ช.รับเป็นไปไม่ได้ไทยติด 20 ลำดับแรกคะแนน CPI สูงสุดของโลก แต่ถือเป็นเรื่องท้าทาย ตั้งเป้าปี 64 ได้ 50 คะแนน เผยปี 62 รับประเด็นร้องเรียนหมื่นกว่าเรื่อง ลุยไต่สวนเอง 3,285 สำนวน คลอบคลุมงบแผ่นดินกว่า 2.36 แสนล้าน เตรียมเคลียร์คดีค้างเก่าให้เสร็จใน 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการจัดงานสัมมนาสาธารณะ หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่น 11 โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI’
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปี 2562 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเข้าสู่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งหมด 10,382 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการตรวจคำร้องทั้งหมดก่อนคัดแยก โดยรับดำเนินการเอง 3,285 เรื่อง ส่วนที่เหลือส่งต่อหน่วยงานอื่นดำเนินการ และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ส่วนใหญ่เรื่องที่รับดำเนินการจะเป็นโครงการที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต ครอบคลุมงบประมาณแผ่นดินมากถึง 236,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีสิ่งที่กดดัน ป.ป.ช. อย่างมากคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องทำคดีเรื่องที่รับไว้ไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือในปี 2564 โดยมีเรื่องที่รับไว้ก่อนจะมีกฎหมายดังกล่าว และยังไม่สามารถชี้มูลความผิดได้กว่า 1,800 เรื่อง ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงตั้งใจว่า หากเคลียร์คดีค้างเก่าภายให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ตามที่บทเฉพาะกาล พ.ร.บ.ป.ป.ช. กำหนดไว้ จะทำคดีภายในกรอบเวลา 2 ปี เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึงผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ด้วยว่า มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งผลต่อการลงทุน โดยค่า CPI ของไทยในปี 2562 ได้ 36 คะแนน ถือเป็นคะแนนที่น้อย ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายสำคัญของแผ่นแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดว่าปี 2564 ไทยจะต้องได้คะแนนถึง 50 คะแนน ถือเป็นเรื่องท้าทาย นอกจากนี้ยังกำหนดว่าในปี 2576-2580 ไทยจะได้ค่าดัชนี CPI อยู่ในลำดับ 1-20 ของโลก ซึ่ง ป.ป.ช. เคยโต้แย้งแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะอยู่ 20 ลำดับแรกที่ได้ค่า CPI สูงสุด อย่างไรก็ดีจะยกดัชนี CPI ของประเทศมากแค่ไหนถือเป็นเรื่องท้าทาย
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า สำหรับแผนแม่บทที่จะพัฒนาค่าดัชนี CPI แบ่งย่อยเป็น 2 เรื่อง คือ 1.แผนในการพัฒนาคน ทั้งประชาชน เด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง 2.แผนพัฒนานวัตกรรมการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีการใช้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ หรือ ITA มาใช้ประเมินธรรมาภิบาลภาครัฐ
“ITA จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะยกระดับคะแนน CPI ตามแผนแม่บทกำหนด โดยปี 2562 มีผู้เข้าร่วมประเมิน ITA มากขึ้น จะทำให้หน่วยงานที่ถูกประเมินไปปรับปรุงการทำงานได้ถูกต้อง ขณะที่การประเมิน ITA ในปีนี้มีผู้ร่วมประเมินแล้วประมาณ 1.1 ล้านคน คาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จและมีการนำเสนอในปลายเดือน ก.ย. 2563” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือคะแนน ITA ที่เป็นการประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นจึงต้องสังเคราะห์ข้อมูลการประเมิน ITA ของแต่ละหน่วยงานที่มีมากกว่า 8,304 แห่ง เพื่อแยกกลุ่มข้อมูลแต่ละหน่วยงานว่า ตรงกับดัชนีการประเมิน CPI ด้านใดบ้าง ให้เกิดการยกระดับการทำงานของหน่วยงานรัฐ และปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ITA ให้ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น
“วันนี้ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีว่า ในเรื่องการเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ทุจริต มอนิเตอร์การให้คะแนนดัชนี 9 ดัชนีในการประเมิน CPI นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องแก้ปัญหาการทุจริต ไม่มีความสามารถมอนิเตอร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ 9 ดัชนีดังกล่าวได้ แต่เราได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่า ดัชนีอะไรที่จะเป็นหน้าที่หลักของกระทรวง ทบวง กรมไหนต้องรับผิดชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง รับรู้ถึงความสำคัญ และไปดำเนินงานเพื่อทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาลต่อไป" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage