ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้! เพิกถอนคำสั่ง ก.คลัง ปลด 'วิชัย จึงรักเกียรติ' อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร หลังให้ความเห็นปมรับโอนหุ้น 'ชินคอร์ป' ชี้ไม่มีหลักฐานได้รับประโยชน์ จึงไม่เข้าข่ายผิดวินัย ส่งผลให้คำสั่งปลดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร เป็นผู้ฟ้องคดี และกระทรวงการคลัง กับพวก รวม 2 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณีกระทรวงการคลังมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีร่วมกันพิจารณาการรับโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ โดยรับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 658/2551 ที่ลงโทษนายวิชัยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยควรคืนสิทธิประโยชน์ที่นายวิชัยพึงมีพึงได้ตามกฎหมายแก่นายวิชัยโดยเร็ว
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีอากร แต่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการวินิจฉัยตีความกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ระเบียบที่เกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งการจะพิจารณาว่าการให้ความเห็นในลักษณะใดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำผิดวินัยฐานใดหรือไม่ ต้องพิจารณาเจตนาและพฤติการณ์ในขณะที่ผู้นั้นมีความเห็น ซึ่งกรณีที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) จากคุณหญิงพจมาน ชินวัตรนั้น สำนักตรวจสอบภาษีได้พิจารณาว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการยกหุ้นให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10)แห่งประมวลรัษฎากร จากนั้นสำนักกฎหมายได้พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยอ้างอิงแนวความเห็นของกรมสรรพากร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีความเห็นสอดคล้องกับกรณีที่สำนักตรวจสอบภาษี อีกทั้งไม่ปรากฏพยานใดในสำนวนคดีที่พิสูจน์ได้ว่า นายวิชัยได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าพฤติการณ์ของนายวิชัยเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งปลดออกจากราชการนั้นจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของ ป.ป.ช.ไม่อาจรับฟังได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว และกำหนดข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธรกสนดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
อ่านรายละเอียด : https://drive.google.com/file/d/1Nbfy-RDoM-dXlZlD0H8Kh22kmfMy-gsi/view
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อพิรุธที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อกับผู้เสียภาษีหรือได้รับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เป็นกรณีพิเศษอย่างไร อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิ่งใดเป็นมูลเหตุจูงใจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจึงไม่อาจลงโทษทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าวได้ คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้อง จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ : ศาล ปค.สูงสุดนัด 6 ส.ค.พิพากษาคดี ก.คลังปลดอดีต ผอ.กฎหมายสรรพากรปมโอนหุ้นชินคอร์ป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/