สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมฯ ชง มส. เคาะแนวปฏิบัติคุมเข้มการบิณฑบาต 10 ส.ค.นี้ หลังพบเรื่องร้องเรียนเพียบ เผยไม่ควรรับของมากเกินความจำเป็น บิณฑบาตเกินเวลา แย่งรับซองปัจจัย หรือสวดยถา-สัพพี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา มีบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขออนุมัตินำเรื่องกรณี การบิณฑบาตไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย เสนอต่อมหาเถรสมาคม โดยระบุว่า มีข้อร้องเรียนผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีการบิณฑบาตของพระสงฆ์ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย เช่น การบิณฑบาตก่อนอรุณ การกลับเข้าวัดเกินเวลาที่กำหนด รับบิณฑบาตมากเกินความจำเป็น หรือถ่ายเทอาหารให้บุคคลภายนอก เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์
สำนักเลขาธิการฯได้เสนอแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ต่อมหารเถรสมาคม ดังนี้ 1.การออกบิณฑบาตของพระภิกษุสามเณร จะต้องออกบิณฑบาตเวลาได้รับอรุณ และไม่ควรเกินเวลา 08.00 น. 2.การบิณฑบาตโดยยืนหรือนั่งประจำที่ ตามร้านขายอาหาร หรือบิณฑบาตโดยเร่ร่อนไปตามสถานที่ต่างๆ นอกพื้นที่บิณฑบาตแห่งวัดตน ไม่สมควรกระทำ 3.การบิณฑบาตด้วยการนั่งรับบาตร หรือนั่งในรถรับบาตรไม่สมควรกระทำ 4.สถานที่ที่เป็นแหล่งอโคจร พระภิกษุไม่ควรเข้าไปบิณฑบาต 5.การบิณฑบาตไม่ควรสูบบุหรี่ สวมรองเท้า พูดคุยกันโดยไม่มีเหตุจำเป็น ถ่ายเทอาหาร หรือทิ้งดอกไม้ให้กับเจ้าของร้านอาหาร หรือแย่งกันรับซองปัจจัย 6.เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว ไม่ควรสวด ยถา...สัพพี
ทั้งนี้ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในทุกระดับ ตลอดนพระวินยาธิการ คอยตรวจตรา สอดส่อง ดูแลพระภิกษุสามเณรในการบิณฑบาต ให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย โดยยืดหลักเสขิยวัตรเป็นเกณฑ์ นำเสนอต่อมหารเถรสมาคม
นาย นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและโฆษกสำนักงานพระพุทธฯ กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้เป็นเพียงร่างที่ทางสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมเป็นผู้นำส่งขึ้นมา ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้แต่อย่างไร ในขณะนี้กฎดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการตังคณะกรรมการศึกษา โดยที่มี พระพรหมเสนาบดี , พระพรหมบัณฑิต และพระธรรมกิตติเมธี เป็นกรรมการศึกษาหลักการบิณฑบาตของพระสงฆ์ตามหลักพระวินัย เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างพร้อมเพียง โดยคาดว่าจะเสนอวาระในการประชุมวันที่ 10 ส.ค.นี้ เพื่อให้มหาเถรสมาคมลงมติรับรองเป็นแนวทางของพระสงฆ์ต่อไป
“ถึงแม้หลักการแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่ก็จะไม่มีบทลงโทษใหม่ ให้ยืดตามกฎพระธรรมวินัยตามกำหนดบทลงโทษในนั้น ส่วนเหตุผลที่จะต้องออกกฎแนวทางปฏิบัติในครั้งนี้ เพราะความรู้ในการศึกษาพระวินัยของพระสงฆ์ไม่เท่ากัน ให้พระสงฆ์ปฏิบัติไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน อีกทั้งแก้ปัญหาการร้องเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติบิณฑบาตของพระสงฆ์ ของพุทธศาสนิกชนและผู้หวังดีต่อพุทธศาสนา” นายนายสิปป์บวร กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage