เปิดวงเสวนาจุฬาฯ! 'คณิต ณ นคร' ชี้การสั่งสอบเพิ่มกรณีร้องขอความเป็นธรรม เป็นหน้าที่ของอสส.ต้องดูเอง ไม่ใช่ให้รองฯ สั่งคดีแทน -คณบดีนิติฯ ระบุ คดี 'บอส' บั่นทอนศรัทธากระบวนการยุติธรรมปท. ประวิงเวลาส่งผลต่อการวิ่งเต้น ยกกรณีคดีจราจรทางบกปกติใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน - เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน เผยผลคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่อาจารย์ฟิสิกส์ มีอยู่ในบัญชีแนบท้ายสำนวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬา มีการเสวนาหัวข้อการฟ้องคดีอาญาโดยรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน นายนิติธร แก้วโต ทนายความ ดำเนินรายการโดย ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม
@ คณบดีคณะนิติฯ จุฬาฯ ชี้ความล่าช้ากระบวนการยุติธรรมคือความอยุติธรรม การประวิงเวลาส่งผลต่อการวิ่งเต้น
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวเสวนาตอนหนึ่งว่า ความรู้สึกของสังคม เมื่อทราบผลคดีที่อัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผลของคดีนี้ทำให้เกิดความสงสัยต่อบทบาทขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ รวมทั้ง โยงใยให้เกิดความสงสัยต่อนักวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ นิติวิทยาศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ ที่ออกมาให้มุมมองต่าง ๆ กันในประเด็นต่าง ๆ ของคดี เมื่อเกิดความสงสัย ความไม่เชื่อมั่น และบั่นทอนต่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในประเทศ
"การเรียกศรัทธากลับคืนมาคือการทำความจริงให้ปรากฏและมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ" ผศ.ดร.ปารีณาระบุ และกล่าวว่าในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธแต่ยืนยันว่าความเห็นที่ให้ไว้ในครั้งนี้ ไม่ผูกมัดการทำหน้าที่ดังกล่าว
@ คดี 'บอส อยู่วิทยา' เป็นคดีจราจรทางบก ปกติใช้เวลา 2-3 เดือน แต่คดีนี้ใช้เวลาถึง 8 ปี
ผศ.ดร.ปารีณา ยังกล่าวด้วยว่า ในคดีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ มีเรื่องที่สมควรถูกหยิบยกมาพิจารณา 2 ส่วน คือ 1. กระบวนการ 2. อรรถหรือเนื้อหาของคดี
"ในเรื่องของกระบวนการ ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม คือความอยุติธรรม ระยะเวลาที่เนิ่นนาน ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน การประวิงเวลาส่งผลต่อการวิ่งเต้น การสอบสวนต้องเป็นธรรม คดีนี้ เป็นคดีจราจรทางบก ปกติต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่คดีนี้ใช้เวลาถึง 8 ปี คดีนี้ล่าช้าจนทำให้หลายข้อกล่าวหาขาดอายุความ มีคำถามว่า ช้าที่พนักงานสอบสวนหรืออัยการ หรือในทุกขั้นตอน หรือช้าในขั้นตอนการสอบสวนเพิ่มเติม และการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมนั้นคือประเด็นใด นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่เรายังไม่รู้และต้องไปดูว่ามีการร้องขอความเป็นธรรมกี่ครั้ง อะไรบ้าง"
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้คดีนี้ล่าช้า คือข้อมูลปรากฏในสื่อสารมวลชนว่าผู้ต้องหาหนีไปต่างประเทศ ทำให้คดีขาดอายุความ กรณีผู้ต้องหาหนี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่กรณีหนีไปอยู่ต่างประเทศ ต้องมีการดำเนินการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องถามว่ามีการติดตามดำเนินการเพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาหรือไม่ นอกจากนี้ คดีนายวรยุทธยังมีประเด็นเรื่องการกลับสำนวน จากเดิมมีคำสั่งฟ้องของอัยการ ต่อมากลับเป็นไม่ฟ้อง โดยปกติแล้ว ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องการสั่งคดีในชั้นอัยการจะมีการพูดถึงน้อยมาก กระบวนการข้างในเป็นไปตามระเบียบของอัยการ และเนื้อหาของคดี ยังเป็นประเด็นว่าด้วยความอิสระในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา
"คดีลักษณะประเภทเช่นนี้ โดยหลักแล้ว พนักงานอัยการต้องพิจารณาสั่งคดี โดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม แต่ในคดีนี้ มีการกลับความเห็น สำนวนแรกสั่งฟ้อง ต่อมาสั่งไม่ฟ้อง ผลของการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ แล้วผบ.ตร. ไม่มีการเห็นแย้ง จึงทำให้คำสั่งไม่ฟ้องมีผลเด็ดขาด" ผศ.ดร.ปารีณาระบุถึงการรื้อฟื้นพยานหลักฐานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา147 ว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องและตำรวจสั่งไม่แย้ง มีข้อยกเว้นคือจะสอบสวนได้อีกเมื่อมีพยานใหม่ที่สำคัญต่อคดี และหลักฐานนั้นต้องเอาผิดผู้ต้องหาได้
@ ชำแหละเหตุการณ์ตร.ล้อมบ้านบอส จับกุมปี 55
ส่วน พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ระบุว่า คดีนายบอส วรยุทธ กระบวนการในชั้นสืบสวนและสอบสวนนั้นยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะในหลักการของการสืบสวนสอบสวน ไม่อาจรู้ได้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาใด เป็นภาวะที่กดดันพนักงานสอบสวน ต้องทั้งสืบสวนทั้งสอบสวน ทำงานกันเป็นทีมงาน
“ในคดีนี้ ผมฟังมาจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ตอนนั้น ว่าผู้ต้องหาหนีเข้าบ้าน บ้านผู้ต้องหามีศักยภาพต่างๆ พนักงานสอบสวนจึงเข้าไปไม่ได้ แล้วส่งพ่อบ้านออกมาสมอ้างว่านี่คือผู้ขับรถเฟอร์รารี่ 35 ล้าน เขาทำแบบนี้ได้เพราะเขามีศักยภาพ เป็นการสะท้อนถึงบริบทสังคมไทย ต่อมา ผบช.น. มา สั่งกองร้อยควบคุมฝูงชน 200-300 คน มาล้อม พบว่าพ่อบ้านไม่มีกระทั่งรอยซีทเบลท์ ไม่มีรอยกระแทก บ้านมีกล้องวงจรปิด แต่ฮาร์ดดิสก์ในกล้องก็ถูกเอาออกแล้ว เลยไปดูสมุดป้อมยามที่ยามบันทึกไว้ตามความเป็นจริง ปรากฏว่า ยามระบุในสมุด ว่า ตีห้ากว่านายบอสขับรถออกไป และระบุเวลาที่ขับรถกลับมา” พ.ต.อ.ดร.มานะ ระบุ และกล่าวว่าเป็นสิทธิผู้ต้องหาที่ต่อมาเขาปฏิเสธ แต่เพราะมีรอยช้ำของซีทเบลท์ จึงส่งไปตรวจ รพ.สมิติเวช กว่าจะได้ผลเป็นช่วงบ่าย
พ.ต.อ.ดร.มานะ ระบุด้วยว่า "คดีนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบตัวนายวรยุทธ ตอนนั้น ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าแล้ว แล้วจะจับเขาได้อย่างไร ตำรวจสามารถแจ้งข้อหาได้ แต่กรณีนี้หมายจับไม่มี จับซึ่งหน้าไม่ได้ แต่เมื่อแจ้งข้อหาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรให้ศาลออกหมายขังได้ ก็ไปลงบันทึกประจำวัน และให้นายวรยุทธไปศาล แต่ผู้ต้องหาไม่ไป ตำรวจจึงมีอำนาจจับ จึงควบคุมตัวในวันนั้น จากนั้น รุ่งขึ้น วันที่ 4 ก.ย.2555 ก็มีการตั้งคณะทำงาน พนักงานสอบสวนทำสำนวนอยู่ 6 เดือน จากนั้นก็ส่งไปสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้"
พ.ต.อ.ดร.มานะ ยังกล่าวอีกว่า ในกระบวนการสอบสวนของตำรวจ มีการไปตรวจสอบดูกล้องซีซีทีวี ตั้งแต่เส้นทางที่รถขับผ่านถึงบ้านผู้ต้องหา พบว่าคนขับคือนายวรยุทธจริง เพราะปรากฏว่าร่างของผู้ตายคือ ด.ต.วิเชียร กระแทกกระจกหน้ารถแตก ผู้ต้องหาก็ขับรถครูดลากรถมอร์เตอร์ไซค์ไปตามถนน ซึ่งทำให้ขับรถลำบาก ผู้ต้องหาจึงต้องเอากระจกลงเพื่อมองทาง เขาโผล่หน้าออกมามองทาง ตำรวจเลยมั่นใจว่านายวรยุทธขับ
พ.ต.อ.ดร.มานะ ระบุอีกว่าตอนนี้ทราบว่ามีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตช. และคณะกรรมการตรวจสอบที่ ผศ.ดร.ปารีณา เป็นกรรมการจะทำการสอบในเรื่องนี้
@ คณิต ชี้การสั่งสอบเพิ่มเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม เป็นหน้าที่ของอสส.ต้องดูเอง ไม่ใช่ให้รองอัยการสูงสุดสั่งคดี เป็นการทำผิด ทำให้เกิดปัญหา
ขณะที่ ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงหลักของกฎหมายว่า ในมาตรา 130 ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย และระบุว่าปกติแล้วการสอบสวนทำได้โดยที่ยังไม่ต้องมีผู้ต้องหา แต่ของไทยมักต้องจับผู้ต้องหาก่อน นอกจากนี้กฎหมายให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานจากทุกทิศ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริง
"พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนอย่างถึงแก่น แต่ในกระบวนการยุติธรรม เราปฏิบัติผิดกันเยอะแยะเช่น การปล่อยตัวชั่วคราว หรือการขอความเป็นธรรมที่ออกในสมัยผมเป็นอัยการสูงสุดโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยพนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาคดีต่อไปในเฉพาะคดีที่ร้องขอความเป็นธรรม โดยพนักงานอัยการทำความเห็น ซึ่งอัยการสูงสุดต้องดู แต่กรณีนี้ให้ใครไปสั่งคดี ให้รองอัยการสูงสุดสั่งคดี เราทำผิดกันหมด มีการไปแก้ เอาสิ่งที่ถูกต้องออกไป ทำให้เกิดปัญหา"
ศ.ดร.คณิต ระบุด้วยว่า การทำงานของ อัยการและตำรวจไม่ใช่การตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน แต่อัยการและตำรวจต้องทำงานร่วมกัน
@ ผลคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่อาจารย์ฟิสิกส์จุฬาฯ มีอยู่ในบัญชีแนบท้ายสำนวน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ตอนท้ายของการเสวนา มีผู้สอบถามถึงผลการคำนวณความเร็วของ สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คำนวณความเร็วรถเฟอร์รารี่ได้ 177 กม.ต่อชั่วโมง เหตุใดไม่ปรากฏในสำนวน
พ.ต.อ.ดร.มานะตอบว่าเท่าที่ได้เห็นข้อมูลระบุเอกสารแนบท้ายสำนวน ปรากฏว่ามีเอกสารข้อมูลการคำนวณความเร็วดังกล่าวอยู่ในเอกสารบัญชีแนบท้ายสำนวนด้วย
ทั้งนี้ เมื่อจบการเสวนา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราขอดูบัญชีแนบท้ายสำนวนดังกล่าว ที่ พ.ต.อ.ดร.มานะระบุว่ามีหลักฐานการคำนวณแนบท้ายอยู่ พ.ต.อ.ดร.มานะ กล่าวว่าให้ดูไม่ได้จริงๆ แต่ยืนยันว่ามีข้อมูลการคำนวณความเร็วอยู่ในบัญชีเอกสารแนบท้ายสำนวน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการคำนวณของ อาจารย์สธนที่คำนวณความเร็วได้ 177 กม.ต่อชั่วโมง อยู่ในเอกสารแนบท้ายสำนวน การจะนำผลการคำนวณดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานใหม่จะทำได้หรือไม่
พ.ต.อ.ดร.มานะกล่าวว่า "เป็นไปได้ยาก"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage