เบื้องหลังคลายล็อกกิจกรรมชุมนุม! ที่ประชุม ศบค.ชงป้องกันถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมือง เผยความจำเป็นต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯรอบ 4 เพื่อประโยชน์เตรียมพร้อมประเทศเข้าสู่ New Normal ควบคุมมิให้โควิด-19 แพร่ระบาด
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) โดยระบุสาระสำคัญถึงมาตรการในการจัดกิจกรรมชุมนุม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วยนั้น (อ่านประกอบ : แพร่ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับ13 จัดม็อบต้องอยู่ภายใต้ กม.-มีมาตรการป้องกันโรค)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่มีการเผยแพร่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ในส่วนมาตรการการจัดกิจกรรมชุมนุมนั้น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะ การพิจารณายกเลิกข้อกำหนดในการห้ามการชุมนุม เพื่อป้องกันมิให้มีการหยิบยกมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยจะดำเนินการภายหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดูเอกสารประกอบ)
นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค. ยังเสนอถึงความจำเป็นในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ยังมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อกำกับดูแล และบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข อาทิ 1.การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร 2.การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคล 3.การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่บังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม 4.การมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่มีการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ
ขณะเดียวกันอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีส่วนช่วยเอื้อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นรองรับการดำเนินการในอนาคตอีกด้วย และการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ในด้านการควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหลัก
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยจะเป็นการขยายระยะเวลาในคราวที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563-31 ส.ค. 2563
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage