'ผศ.ดร.ปริญญา' ลั่น คดี ‘บอส’ ต้องไปถึงศาล เพื่อการพิจารณาที่เปิดเผย-โปร่งใส ซัดคำถามถึง อสส.-สตช.-ผบ.ตร. ปมสั่งไม่ฟ้อง-ไม่เห็นแย้ง ตั้งข้อสังเกต พยานหลักฐาน-คำนวณความเร็วรถยนต์หักล้างผลลัพธ์เดิมได้อย่างไร? แนะเชิญตัวแทนเฟอร์รารี่ เข้าให้ข้อมูลว่าขับรถความเร็วต่ำกว่า 80 กม.ชนแล้วบุบยับอย่างเหตุการณ์นี้หรือไม่? เผย เคยเสนอให้นำจารุชาติมาแถลงต่อสาธารณะ แต่กลับเสียชีวิตก่อน ด้าน 'อรรถพล'คาด อสส.แถลงจันทร์นี้ ปมอัยการสั่งไม่ฟ้อง ชอบด้วยกม.หรือไม่
วัันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาหัวข้อ "คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” ร่วมเสวนาโดย ศ.(พิเศษ) อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร. รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ใจความสำคัญตอนหนึ่งของการเสวนา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรคดีนี้จึงจะไปถึงศาล คนไทยต้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่ยอมเรื่องนี้ ตนไม่ได้พิพากษาว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา ผิด แต่อยากให้คดีไปถึงศาลยุติธรรมเพื่อให้มีกระบวนการสืบสวน สอบสวน มีกระบวนการพิจารณาที่เปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม ดังนั้น คดีนี้ต้องไปถึงศาล ก่อนระบุรายละเอียดว่าจากเดิมทีคดีนี้มีการ ตั้งข้อหา 5 ข้อหา คือข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหาย และมีผู้ถึงแก่ความตาย, ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร แก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที, ขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
ต่อมา พนักงานสอบสวน สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธฐานขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
จากนั้นข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินขาดอายุความ และในเวลาต่อมา ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ก็ขาดอายุความ
เหลือเพียงคดีเดียว คือ คดีที่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทั้ง 3 ข้อหาที่ขาดอายุความไป ล้วนขาดอายุความเมื่อคดีอยู่ในมือตำรวจ
นอกจากนี้ผศ.ดร.ปริญญาระบุข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ ต่อกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ
ประเด็นแรก กรณีมีพยานผู้เชี่ยวชาญใหม่ 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามนาย และนักวิชาการคือ รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยมให้การว่า นายวรยุทธ ขับรถไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมงซึ่งไม่ตรงกับคำให้การของตำรวจที่เคยให้ผลการคำนวณในครั้งแรกว่า คำนวณได้ 177 กม.ต่อชั่วโมง
ดังนั้น คำถามคือ ข้อมูลของพยานใหม่ 4 รายนี้ ไปหักล้างข้อมูลเดิมได้จริงหรือ คำถามคือทำไมพยานเหล่านี้ เพิ่งปรากฏตัวหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปหลายปีแล้ว ทำไมอัยการไม่ตอบคำถามเหล่านี้ที่ทำให้สังคมสิ้นสงสัย นอกจากนี้ พยานรายใหม่ที่ขับรถตามมา คือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ที่ระบุว่านายวรยุทธขับรถประมาณ 50-60 กม.ต่อชั่วโมง แล้วในสำนวนของอัยการ กลายเป็น ด.ต. วิเชียร เป็นผู้ขับรถโดยประมาท
“คำถามผมคือ ทำไม พนักงานอัยการจึงเชื่อพยาน 2 รายนี้ ง่ายเหลือเกิน คำถามคือพยาน 2 รายนี้ ปรากฏขึ้นมา ปี 62
นอกจากนี้ ในสำนวนของอัยการไม่ปรากฏข้อมูลที่รถของนายวรยุทธลากร่าง ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐไป 200 เมตรและไม่ระบุถึงกรณีที่นายวรยุทธให้พ่อบ้านมามอบตัวแทนตัวเอง และในส่วนของพยานใหม่ 2 รายนี้ ขับรถมาจริงไหม ผมเคยเสนอว่าให้นำตัวจารุชาติ มาแสดงตัวต่อสาธารณชน แต่เสียชีวิตไปเสียก่อน คนก็สงสัยว่า เสียชีวิตจริงหรือเปล่า ล่าสุดไทยรัฐออนไลน์ก็เผยแพร่ข้อมูลที่บุตรและญาตินายจารุชาติระบุว่าจารุชาติเคยเล่าว่าหวั่นจะถูกตัดตอน ตอนนี้สาธารณชนสงสัยแล้ว นอกจากนี้ หากจารุชาติขับรถตามมาจริง ๆ เมื่อปี 2555 แล้วเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ทำไมญาติของจารุชาติไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ จากปากจารุชาติ คนใกล้ชิดไม่มีใครรู้เรื่องเลย ตอนนี้เหลือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร คาดว่าท่านคงดูแลตัวเองได้ แต่ก็อยากให้มาให้การ” ผศ.ดร.ปริญญาระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่าคดีของนายวรยุทธ ทำให้นึกถึงข้อสังเกตที่มีต่อคดีฆาตกรรมนางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ที่คดีไปถึงศาลชั้นต้น สมุทรปราการ ศาลสั่งให้ประหารชีวิตคนไป 4 คน จากคำให้การของพยานบุคคล
ดังนั้น ผู้ที่เป็นพยานบุคคล ต้องมีการสอบสวนกันเยอะ หลักฐานต้องชัดเจน หนักแน่น ต้องแถลงต่อสาธารณชน ต้องมาอธิบายจนสาธารณชนสิ้นสงสัย
ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่าข้อสังเกตประการต่อมา ในสำนวนของอัยการระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 2 คือ ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ สาธารณชนก็เพิ่งทราบกัน ว่า ด.ต. วิเชียร กลายเป็นผู้ต้องหาที่ 2 มีคำถามว่า เป็นคำเพื่อให้เห็นว่าเป็นการประมาทร่วมหรือไม่ ในความเห็นตน มองว่านี่ไม่ใช่ประมาทร่วม “นี่เป็นการประมาทฝ่ายเดียว คือ ด.ต. วิเชียร ประมาท นี่เป็นข้อสังเกตของผม เป็นการทำให้คนตายกลายเป็นคนผิดไปหรือไม่ เพื่อให้คนผิดจริง พ้นข้อหาหรือไม่ อยู่ดี ๆ ด.ต.วิเชียร ก็กลายเป็นผู้ต้องหาไปและโดยปกติแล้วคนที่จะเป็นผู้ต้องหาได้ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลผู้นั้นรับทราบข้อกล่าวหา แต่นี่ ด.ต. วิเชียร ไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาเลย ดังนั้น คดีนี้ แพะคือ ด.ต. วิเชียร เป็นคนผิด ผมเศร้าใจแทน ด.ต. วิเชียรมาก เขาถูกชนตาย ลากไปไกล 200 เมตร แล้วกลายเป็นคนผิด”
ส่วนประเด็นที่สำนวนของอัยการระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 2 ได้รับค่าชดเชย ต้องถามว่า เมื่อคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน เรื่องนี้จะยอมความไม่ได้ การประมาทและทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นอาญาแผ่นดิน เรื่องของค่าสินไหมค่าชดเชย เป็นเพียงดุลยพินิจให้ผู้พิพากษาพิจารณาว่าหากคดีเข้าสู่ศาล จะให้รอลงอาญาหรือไม่ แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น จึงขอถามว่าคดีนี้จะไปถึงศาลได้อย่างไร ขอให้เป็นเป้าหมายร่วมกันของคนในสังคม
และต้องมีการหาหลักฐานใหม่ โดยขอเรียกร้องดังนี้
ประเด็นที่ 1 ขอให้อัยการสูงสุด ตอบข้อสงสัยของประชาชน แม้จะมีการบอกว่าเป็นเรื่องของรองอัยการสูงสุด แต่อัยการสูงสุดถือเป็นเบอร์หนึ่ง พนักงานอัยการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงได้สั่งฟ้องไปแล้ว แล้วต่อมาทำไมจึงสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุพยานหลักฐานที่เข้ามาใหม่ภายหลังที่น่าสงสัย อัยการสูงสุดต้องลงมาดู แล้วตอบว่าจะมีทางใดได้บ้าง
ประเด็นต่อมา ขอเรียกร้องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถามว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชา สตช. อยู่ในบังคับบัญชาของ นายกรัฐมนตรี ดังนั้น นายกฯ มีอำนาจสั่งการได้ ถ้าพบว่า การที่ตำรวจไม่คัดค้านคำสั่งของอัยการ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ นายกฯ ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว นี่อาจเป็นสิ่งที่เราคาดหวังได้จากกรรมการชุดนี้ และต้องให้ สตช. คัดค้านคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ
ส่วนประเด็นหลักฐานใหม่ คนทั่วไปคงสงสัยเหมือนตน ว่าทำไมรถเฟอร์รารี่ ที่ขับชนด้วยความเร็วไม่ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมง ทำไม ถึงได้บุบมากถึงขนาดนี้ การที่ความเร็วลดลงมา ตนก็สงสัย เพราะถ้าขับเร็วเกินกว่า 80 กม.ต่อชั่วโมงก็ถือว่าขับรถโดยประมาทจึงต้องทำให้ความเร็ว ไม่ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมง นำไปสู่การระบุในสำนวนของอัยการว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเปล่า ทั้งที่อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำนวณได้ 177 กม.ต่อชั่วโมง แต่นักวิชาการอีกคนคำนวณได้ต่ำกว่า 80 กม.
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การแสวงหาหลักฐานใหม่ในประเด็นนี้ก็ไม่ยาก ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพความเร็วรถของนายวรยุทธไว้ได้ในวันเกิดเหตุ แล้วใช้เครื่องวัดความเร็ววัดเลย ว่าเร็วเท่าไหร่ นอกจากนี้ ควรเชิญเจ้าหน้าที่ของเฟอร์รารี่มาสอบถาม ว่าถ้ารถขับไม่ถึง 80 กม.ขับแล้วชน รถเฟอร์รารี่จะบุบขนาดนี้หรือไม่
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุด้วยว่า ควรต้องแสวงหาหลักฐานใหม่ในคดีเสพโคเคนในระหว่างขับรถ และตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ตั้งข้อหา กรณีที่ตำรวจให้การว่าเป็นโคเคนจากยาชาหมอฟัน ก็มีการตอบโต้มาจากแพทยสภาแล้ว และหมอฟันก็ตอบว่าไม่มีโคเคนอยู่ในยาชา จึงขอตั้งคำถามต่อ สตช.ว่า ถ้าเจอยาเสพติดให้โทษอยู่ในตัวผู้ต้องหา แล้วไม่ตั้งข้อหา ถือว่าผิดตาม มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ความผิดในการเสพยาเสพติดที่ส่งผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จะเรียกว่าเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่ ประเด็นนี้อายุความยังไม่ขาด หากตั้งข้อหาในประเด็นนี้จะมีอายุความ 10 ปี
ตอนท้ายของการเสวนา ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่าทั้งหมดนี้ ไม่ได้ตั้งใจเอาเป็นเอาตายต่อนายวรยุทธ แต่นี่คือการปกป้องบ้านเมืองให้มีความน่าเชื่อถือว่าหากทำผิดกฎหมาย ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอกัน
ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ระบุว่า กรณีนี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแต่ก็ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการดำเนินคดี แต่ทราบจากสื่อมวลชนว่านายตำรวจที่เสียชีวิตนั้น บุพการีเขาก็ตายไปแล้ว ผู้สืบสันดานเขาก็ไม่มี ภรรยาตามกฎหมายที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องก็ไม่มี ดังนั้น ประเด็นที่ผู้เสียหายจะฟ้องเอง ก็ตัดไปได้เลย
นายอรรถพลกล่าวถึงคณะทำงานที่ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีกรณีพนักงานอัยการลงนามคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยคณะทำงานมี 7 คน ในจำนวนนี้ มีประธานคณะทำงานคือนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน นายชาติพงศ์ จีรพันธุ นายปรเมศว์ อินทรชุมนุม ทำไมต้องกล่าวถึงสี่คนนี้ เพราะนายสมศักดิ์ เป็น กอ.(คณะกรรมการอัยการ) โดยตำแหน่ง ส่วนอีกสามคนที่เอ่ยนามมานี้เป็น กอ.โดยการเลือกตั้ง
“ขณะนี้มีการตรวจสอบประเด็นนี้แล้ว โดย กอ. ทั้ง 4 คน และหากถามว่าผมในฐานะประธาน กอ. จะตั้งอนุกรรมการตรวจสอบในเรื่องนี้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ โดยอำนาจนั้นทำได้ แต่มันจะซ้ำซ้อนกับคำสั่งอัยการสูงสุด ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้อัยการสูงสุดต้องแถลงต่อสาธารณชนแน่นอน” นายอรรถพลระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อทราบว่ามีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ เมื่อทราบข่าว ตนได้ทำหนังสือเรียนอัยการสูงสุดว่าในการตรวจสอบ ต้องตรวจสอบตั้งแต่พนักงานสอบสวน อัยการ และกรรมาธิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
นายอรรถพลระบุด้วยว่าต้องพิจารณาประเด็นเรื่องดุลพินิจที่สั่งไม่ฟ้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปโดยไม่ชอบ กอ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กอ.พิจารณาลงโทษได้อยู่แล้ว ประเด็นนี้ทราบว่าอัยการสูงสุดเลื่อนการแถลงผลไปวันจันทร์ที่ 3 ส.ค.
ประเด็นต่อมาคือต้องพิจารณาความของพนักงานอัยการที่สั่งคดีตามดุลพินิจ ว่ามีการตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจกัน ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่ง ชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแย้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการได้
นอกจากนี้นายอรรถพลระบุถึงกรณีเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมว่าเมื่อมีการร้องขอ อัยการก็ต้องทำโดยต้องรอคณะทำงานที่อัยการสูงสุดตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการร้องขอความเป็นธรรมมีมาโดยตลอด โดยผู้บริหารที่สูงกว่าอธิบดีอัยการคือรองอัยการสูงสุด ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด นอกจากนี้ยังมีสำนักงานกิจการคดี ที่พนักงานอัยการจะตรวจพิจารณาว่าการร้องขอความเป็นธรรมมีพยานหลักฐานอย่างไร ถ้าเห็นว่าไม่ควรพิจารณา ก็จะสั่งยุติ ส่วนกรณีนี้ที่มีพยานโผล่มาปี 62 ในประเด็นนี้ทางคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบคงจะชี้แจงให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage