ธปท.อนุญาตธนาคาร 5 แห่ง เปิดให้ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ ผ่านระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบ ‘ใบหน้า’ ในวงกว้าง ก่อนปูทางเปิดให้บริการปล่อย ‘สินเชื่อออนไลน์’ ในอนาคต พร้อมออกแนวปฏิบัติ 6 ข้อที่ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้แก่ กสิกรไทย กรุงเทพ ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา และซีไอเอ็มบีไทย เปิดให้บริการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ผ่านเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Facial Recognition) ในวงกว้างอย่างเป็นทางการแล้ว
ทั้งนี้ ในระยะแรก ลูกค้าธนาคารที่ผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) และมีฐานข้อมูลในระบบแล้ว จะสามารถเปิดบัญชีธนาคารเงินฝากกับธนาคาร และเปิดบัญชีอี-มันนี่กับนอนแบงก์ ผ่านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารหรือนอนแบงก์
และในระยะต่อไปสถาบันการเงินที่ผ่านการประเมินผลระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ผ่านเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า และได้รับใบอนุญาตให้ Exit แล้ว ยังสามารถนำระบบดังกล่าว ไปใช้ในการยืนยันตัวตนสำหรับการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วย โดยไม่ต้องเข้าทดสอบระบบอีก แต่การปล่อยสินเชื่อจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท.
“ข้อดีของระบบนี้ คือ ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา ส่วนธนาคารเองก็จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น และในอนาคตหากแบงก์หรือนอนแบงก์ใด ต้องการให้บริการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้ลูกค้าก็ทำได้ และไม่ต้องเข้ามาทดสอบในระบบ Sandbox อีกแล้ว เพียงแต่ต้องขออนุญาตและหารือหลักเกณฑ์ต่างๆกับ ธปท. ก่อน เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาสินเชื่อ การประเมินลูกค้า และการประเมินหลักประกัน เป็นต้น” น.ส.สิริธิดากล่าว
ก่อนหน้านี้ ธนาคารทั้ง 5 แห่ง เข้าทดสอบระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ก่อนนำไปใช้จริง ขณะที่ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 4 ราย อยู่ระหว่างการประเมินผลฯในระบบ Sandbox ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ราย ได้ยื่นเรื่องขอออกจากระบบ (Exit) ก่อนเปิดให้บริการลูกค้าในวงกว้าง และที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ได้มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าแล้ว 5.4 ล้านบัญชี
น.ส.สิริธิดา กล่าวด้วยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการประเมินผลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้า ข้ามธนาคาร (Cross-verification) ผ่านระบบ National Digital Identity (NDID : บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล เพื่อขอสมัครหรือใช้บริการต่างๆ) โดยมีสถาบันการเงินเข้าทดสอบระบบ 7 ราย ซึ่งยังไม่มีรายใดได้รับอนุญาตให้ Exit และในเดือนส.ค. ธปท.จะขยายการทดสอบระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้า ให้ครอบคลุมการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย
น.ส.สิริธิดา ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล
สำหรับแนวปฏิบัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1.กำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2.การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3.การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ
4.การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุมตามมาตรฐานสากล 5.การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ6.การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่ประสงค์จะนำ Biometrics ไปใช้ให้บริการทางการเงิน จะต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการทดสอบการใช้ Biometrics เพื่อเปรียบเทียบภาพกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ก่อนนำมาใช้จริง ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีความประสงค์จะประยุกต์ใช้กับธุรกรรมทางการเงินประเภทอื่นๆ จะต้องมีการหารือกับ ธปท. ก่อนเปิดใช้บริการเพื่อความปลอดภัย
อ่านประกอบ :
"ไทยพาณิชย์”ผนึก“เคาน์เตอร์เซอร์วิส”เปิดบริการยืนยันตัวตนได้รายแรก
'แบงก์’ ทดสอบเปิดบัญชีออนไลน์ ร่นเวลาเหลือแค่ 20 นาที
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/