สถาบันยุวทัศน์ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเผยผลสำรวจ ช่วงวิกฤติโควิด 19 “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เด็กและเยาวชนที่ใช้สื่อออนไลน์มีโอกาสเห็นโฆษณาเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น พบมีนาคม – พฤษภาคม 2563 เพิ่มถึง 200 เว็บไซต์ วงเสวนาถกป้องกันปัญหาการ ชี้การพนันก้าวไปสู่ยุค 5.0 ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องรู้เท่าทัน เน้นย้ำสร้างจิตสำนึกฉันทามติร่วมกันของคนในสังคม ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ครูหยุยแนะ ควรเสนอรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นอีกช่องทางในการร่วมแก้ไขปัญหา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “กักตัวเสี่ยงโควิด กลับเสี่ยงติดพนันออนไลน์” ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, "นายบี" (นามสมมติ) เยาวชนที่มีประสบการณ์เล่นพนันออนไลน์และได้รับผลกระทบ, พ.ต.ต. ปกรณ์ ทองจีน นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการเสวนา มีการนำเสนอผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนกับการใช้สื่อออนไลน์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ นำเสนอโดย นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และนางสาวเมธาวี เมฆอ่ำ กรรมการฝ่ายบริหารสมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ
ใจความตอนหนึ่งของการนำเสนอผลสำรวจ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจมีช่วงอายุต่ำกว่า 15-25 ปี ตามนิยามเด็กและเยาวชน ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ระดับการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับอุดมศึกษา ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 ผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 1,089 คนจากทั่วประเทศ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจในช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ร้อยละ 71.17 อยู่กับญาติผู้ใหญ่ ร้อยละ 17.54 อยู่คนเดียว ร้อยละ 3.58 อยู่กับแฟน ร้อยละ 3.40 อยู่กับเพื่อน ร้อยละ 2.57 เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ในการออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สมาร์ทโฟน ร้อยละ 96.97 โน้ตบุ๊ค ร้อยละ 2.57 และไม่ระบุ ร้อยละ 1.74
ผลสำรวจเผยว่า ในสถานการณ์ปกติ ก่อนโควิด 19 ผู้ตอบแบบสำรวจ ใช้เวลาในแต่ละวันกับเครื่องมือสื่อสารเฉลี่ย 6 ชั่วโมงขึ้นไป เป็นจำนวนมากที่สุดคือร้อยละ 32.13 แต่ในช่วงโควิด มีนาคม-พฤษภาคม ที่ต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มีการใช้เวลากับเครื่องมือสื่อสารเฉลี่ย 6 ชั่วโมงขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 48.20 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยในระหว่างการออนไลน์ ผู้ตอบแบบสำรวจได้พบเห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันหรือเสี่ยงโชคมากถึง ร้อยละ 70.06 โดยช่วงอายุที่พบเห็นการโฆษณา ชวนให้เล่นพนันหรือเกมพนันมากที่สุด คือ 15-19 ปี ร้อยละ 47.4
ช่องทางที่มีการพบเห็นโฆษณาพนันออนไลน์มากที่สุดคือ เฟซบุ๊ค เว็บหรือแอพลิเคชั่นดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม และไลน์ ตามลำดับ
เมื่อเห็นโฆษณาการพนันออนไลน์แล้ว มีเด็กและเยาวชนเข้าไปเล่นพนัน ร้อยละ 13.24 โดย 5 อันดับที่เข้าไปเล่นมากที่สุดได้แก่ 1.เกมยิงปลา เพราะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับการพนัน แต่เป็นการเล่นเกมที่มีโอกาสได้เงิน 2.แทงหวย 3.เกมสล็อต 4. บาคาร่า และ 5.ทายผลกีฬา
นอกจากนี้ การเฝ้าระวังพนันออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 พบว่า มีเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่า กล่าวคือ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 มี.ค.2563 มีเว็บพนันจำนวน 240 เว็บไซต์ แต่ในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ช่วง 16 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 มีเว็บไซต์พนันออนไลน์ เพิ่มขึ้นถึง 200 เว็บไซต์ รวมทั้งสิ้น 440 เว็บไซต์
ผลสำรวจเปิดเผยด้วยว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 167 User รับโปรโมตเว็บพนันออนไลน์ ประกอบด้วยบุคคลทั่วไปที่มีหลากหลายอาชีพบนโลกออนไลน์, Net Idol, Influencer โดยแต่ละ User มีผู้ติดตามตั้งแต่ 200 คนไปจนถึง 1.8 ล้านคน มีเฟซบุ๊คแฟนเพจกว่า 109 แฟนเพจ รับโปรโมตเว็บพนันออนไลน์ โดยแต่ละเพจมีผู้ติดตามตั้งแต่ 20 คน ไปจนถึง 2.1 ล้านคน
ภายหลังการเสนอผลสำรวจ มีเวทีเสวนาหัวข้อ “กักตัวเสี่ยงโควิด กลับเสี่ยงติดพนันออนไลน์” ใจความตอนหนึ่งของการเสวนา นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 แต่การพนันออนไลน์ล้ำหน้าไปเป็นไทยแลนด์ 5.0 แล้ว แต่ละยุคสื่อถึงอะไรบ้าง อาจสะท้อนได้ว่า ยุค 1.0 เป็นยุคของการพนันพื้นบ้าน ยุค 2.0 คือยุคที่รัฐเริ่มเข้ามา เช่น มีอากรบ่อนเบี้ย มีโรงพนัน มีสลากกินแบ่งรัฐบาล ยุค 3.0 มีธุรกิจการพนันที่แทรกซึมไปทั่วโลก มีมูลค่ามหาศาล ยุค 4.0 คือยุคที่การพนันเข้าสู่โลกออนไลน์ และยุคปัจจุบัน ยุค 5.0 การพนัน เข้าสู่โลกเสมือน เทคโนโลยี เวอร์ชวล ( Virtual) มีทั้งเกมออนไลน์ เกมที่ผู้เล่นเข้าไปเล่นเสมือนเกม แต่มีการพนันแฝงอยู่อย่างแนบเนียน ด้วยเหตุนี้ การพนันจึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ไม่ต่างจากเหล้า บุหรี่ ยาเสพติดหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพราะการพนันสามารถเสพติดได้ นี่คือความสำคัญว่าทำไมเราจึงต้องมาเสวนากันเพื่อหาทางป้องกัน เพราะการพนันออนไลน์อยู่ใกล้ตัวเรามาก อยู่ในโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค อยู่กับเด็กๆ เยาวชน หรือลูกๆ ของเราโดยที่เราไม่รู้
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สังเกตกันไหมว่าทำไม การพนันออนไลน์ต้องโฆษณาทุกกลุ่ม ไม่เพียงเฉพาะเน็ตไอดอลเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะยิ่งมีคนเห็นมาก การซึมซับโดยพฤติกรรมมนุษย์จะซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว การทำโฆษณาซ้ำๆ จึงเป็นการหวังผลระยะยาว ในการให้มีพฤติกรรมซึมซับ
นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นการพนันแบบเดลิเวอรี่ เข้าถึงการบริการเพราะทุกที่ล้วนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่เดียวที่การพนันออนไลน์จะเข้าไม่ถึงคือพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ทุกที่ที่สัญญาณเข้าถึง ย่อมได้รับการโฆษณา และเป็นการเข้าถึงโดยหวังผล เช่น การที่เน็ตไอดอลสักคนจะโพสต์โฆษณา ผู้จ้างวานก็ผ่านการศึกษามาแล้ว ว่าต้องโพสต์เวลาไหน จึงจะได้ผลที่สุด
ด้านเยาวชนรายหนึ่ง ที่เป็นอดีตผู้ติดการพนันออนไลน์ และมาร่วมเสวนาในครั้งนี้ ระบุว่า เมื่อได้เห็นแต่ละโพสต์ หรือคอมเมนต์ว่าได้เงินจริง ได้เงินเร็ว เล่นบาคาร่า ไม่นานก็รู้ผลแพ้ ชนะ พอได้แล้วก็อยากได้อีก เสียเงินไปไม่น้อยกว่า 9 แสนบาท เสียความสัมพันธ์ในครอบครัว กระทบความสัมพันธ์ กับคนในครอบครัว ครอบครัวให้เงินเป็นของขวัญรับปริญญามาสามหมื่นบาทก็นำไปเล่นพนัน เมื่อเงินหมดก็กู้เงินนอกระบบมา 2 แสน เขาคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ร้อยละ 15 บ้าง สุดท้าย ต้องให้ครอบครัวมาช่วยเหลือ ในที่สุดต้องหักดิบ หยุดเล่นพนันเลย ปัจจุบัน หยุดมาเป็นปีแล้ว ย้ำว่าทุกคนเลิกเล่นพนันได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ
พ.ต.ต. ปกรณ์ ทองจีน นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นย้ำว่าควรสร้างความตระหนักรู้ สังคมควรมีฉันทามติร่วมกันทั้งสื่อมวลชน สื่อแขนงต่างๆ และคนในสังคมเห็นตรงกันว่าการพนันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว “ผมคิดว่า กระดุมเม็ดแรก เรื่องการสร้างความตระหนักรู้ สำคัญที่สุด เหตุผลที่ผมไม่เล่นการพนันเพราะผมมีปัญหาครอบครัวเกือบล่มสลายเพราะการพนัน ผมมีประสบการณ์ตรง ผมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรทัดฐาน ส่วนในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย เห็นว่าวิธีพิจารณาความอาญา อาจต้องแก้ไข ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพัฒนาตัวเองในเรื่องการสืบสวนให้เท่าทันกับอาชญากรรมที่รวดเร็ว ป.วิอาญาแบบเดิมอาจไม่เท่าทันแล้ว”
ด้าน ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระบุว่าการปิดกั้นเว็บไชต์ หรือการอายัติเส้นทางการเงินก็ดี นับเป็นวิธีหนึ่งในการระงับยับยั้ง คือ การปิดกั้นเว็บไซต์ ทำได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงดีอี หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าจะใช้เวลาแค่ไหน ซึ่งถ้าเรื่องการขอระงับถูกยื่นมาถึงศาล ศาลก็ใช้เวลาไม่นานในการสั่งระงับ แต่ก่อนจะมาที่ดีอี ก็ต้องมีการส่งเรื่องมาก่อน โดยผู้ส่งเรื่องคือมหาดไทย หรือตำรวจ ส่วนการอายัติบัญชี ก็ใช้กฎหมายฟอกเงิน ซึ่งการพนันทั่วไป กำหนดวงเงินที่ 5 ล้านบาท แต่การพนันออนไลน์ ยังไม่มีการกำหนดวงเงิน ซึ่งการใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ต้องส่งเรื่องไปที่ เลขา ป.ป.ง. ให้เป็นคนออกคำสั่ง แต่ก็ต้องเป็นกรณีเร่งด่วน ดังนั้น ประเด็นเรื่องการบังคับใช้อำนาจในเรื่องนี้จึงกระจัดกระจาย คือ ไม่ได้อยู่ที่มหาดไทย หรือ ตำรวจเท่านั้น เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
ดังนั้น การห้ามการโฆษณาก็เป็นช่องทางหนึ่ง การปิดกั้นโดเมน ไม่ให้สามารถเปิดเว็บไซต์ดูได้ในประเทศไทยก็สามารถทำได้ แต่รัฐต้องเป็นผู้ทำ ส่วนการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย มีทั้งโทษอาญาและโทษทางปกครอง ซึ่งในต่างประเทศจะมีทั้งโทษทางปกครอง และมีโทษทางแพ่ง เช่น มีการขึ้นแจ้งเตือนก่อน หรืออาจมีมาตรการในช่องทางอื่น เช่น บล็อคบัญชีเฟซบุ๊ค หรือขอความร่วมมือกับรัฐและเอกชนให้บล็อคบัญชีเหล่านี้
ส่วนในประเด็นเรื่องของการโฆษณา การชักชวน โดยปกติแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นเยาวชน ในอเมริกาจะไม่จับคนที่มาเล่น แต่จับเจ้าของบ่อน ส่วนในหลายๆ ประเทศ ก็คล้ายๆ กันนี้ ดังนั้น ถ้าผู้เล่นเป็นเด็กและเยาวชน ควรใช้มาตรการทางปกครอง เช่น คุมประพฤติ แต่ไม่ให้มีประวัติอาชญากรรม แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ต้องดำเนินคดี
ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา แสดงความเห็นว่า เวทีในครั้งนี้มีประโยชน์ อยากให้มีการยกระดับ จัดทำข้อเสนอแนะที่ตกผลึก ชัดเจน แล้วเสนอรายงานเข้ามายังวุฒิสภา เพราะด้วยกลไกของวุฒิสภาจะทำให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เร็ว เช่น อยากได้ข้อเสนอว่าแก้ไขอะไร อย่างไร หากมีรายงานที่ชัดเจนเข้าสู่วุฒิสภา ก็สามารถผลักดัน นำเข้าสู่ ครม. เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาดูแลรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้โดยตรง การเสวนานี้จึงย่อมสามารถยกไปสู่ระดับดังกล่าวได้ โดยต้องจัดทำเป็นรายงานที่มีข้อเสนอที่ชัดเจน