ม.ขอนแก่น แจงใช้งบสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ 264 ล้าน โปร่งใส รับมีขยายเวลาส่งมอบงาน 2 ครั้ง เหตุต้องเปลี่ยนวัสดุ-ติดช่วงหยุดงาน แต่ปรับผู้รับเหมาไปแล้ว 29 ล. ส่งมอบงานล่าช้า
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย วงเงินงบประมาณ 264 ล้านบาท ซึ่งมีประเด็นอยู่ที่ งานนี้ได้ต่อขยายสัญญาเพิ่มอีก 90 วัน แต่สุดท้ายงานก็ยังสร้างไม่เสร็จ เนื้องานทำให้ครบ ๆ ตามสัญญา แต่ไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุชุดแรกไม่เซ็นตรวจรับงานงวดสุดท้ายให้ จากนั้นได้มีการตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามาแทน และเซ็นรับงาน แต่งานไม่เสร็จ ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ โดยเฉพาะในส่วนของงานนิทรรศการ ซึ่งมีการตรวจรับ เบิกจ่ายเงินไปเรียบร้อย
(อ่านประกอบ : ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน : 264 ล. งานไม่เสร็จ เบิกจ่ายเรียบร้อย?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงจาก นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงข้อเท็จจริงการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ นี้ ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการจัดจ้างก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การดําเนินโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดโครงการ ดังนี้
1. ลักษณะโครงการ
โครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างจํานวน 2 อาคาร คือ 1. อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 12,030.65 ตารางเมตร และ 2. อาคารควบคุมระบบ สูง 1 ชั้น
2. กระบวนการการจัดจ้าง
เป็นการจัดจ้างโดยการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 กําหนดราคากลาง เป็นเงินจํานวน 265,405,229.46 บาท ในการจัดจ้างมีผู้เข้าเสนอราคาจํานวน 13 ราย โดย บริษัท ซีวิล พี จํากัด เป็นผู้เสนอราคาต่ําสุด เป็นเงินจํานวน 264,300,000 บาท จึงได้มีการต่อรองราคา และจัดจ้างในวงเงินค่าจ้างจํานวน 264, 190,000 บาท
3. การดําเนินการก่อสร้าง
ตามสัญญาจ้างกําหนดระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา จํานวน 510 วัน โดยมีกําหนดวันเริ่มงานในวันที่ 20 เมษายน 2560 และกําหนดแล้วเสร็จ ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ในระหว่างการดําเนินการก่อสร้าง ได้มีการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง จํานวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เนื่องจากมีความจําเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง รายละเอียดงานก่อสร้าง จํานวน 8 รายการ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงวัสดุหลังคาบริเวณโถงกลางอาคาร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังคา การเปลี่ยนแปลงวัสดุหลังคาส่วนรับน้ําฝน เปลี่ยนแปลงวัสดุระบบป้องกัน ฟ้าผ่า งานเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางลาดขึ้นชั้น 2 ปรับปรุงรายละเอียดการตกแต่งภายในส่วนนิทรรศการ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดถังบําบัดน้ําเสีย และเพิ่มเติมงานโครงสร้างพื้นโถงกลาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่ม ประโยชน์ใช้สอย ประหยัดงบประมาณในการดูแลบํารุงรักษาอาคารในระยะยาว และทําให้สิ่งก่อสร้างสามารถใช้ งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มเงินค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง ซึ่งจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว ทําให้ต้องขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น จํานวน 94 วัน และสั่งหยุดงานในช่วงพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรประจําปี 2560 จํานวน 3 วัน รวมเป็นจํานวน 97 วัน ครั้งที่ 2 เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้สั่งให้หยุด งานก่อสร้างในช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจําปี 2561 จึงขยายระยะเวลาให้ผู้รับจ้าง 3 วัน รวมมีการ ขยายระยะเวลาทั้งสิ้น 100 วัน มีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ 21 ธันวาคม 2561
ในการดําเนินการก่อสร้าง ผู้รับจ้างดําเนินการก่อสร้างล่าช้ากว่ากําหนดเวลาตามสัญญา เป็นจํานวน 110 วัน มหาวิทยาลัยได้ปรับผู้รับจ้าง รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 29,060,900 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11 ของจํานวนเงิน ค่าจ้างทั้งหมด
4. การส่งมอบและตรวจรับงานก่อสร้าง
การส่งมอบและตรวจรับงานได้ดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 กล่าวคือ เมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานในแต่ละงวด ผู้ควบคุมงานจะเป็นผู้ตรวจสอบปริมาณงานตามสัญญา เมื่อเห็น ว่างานแล้วเสร็จ จึงได้รายงานผลการตรวจสอบมายังคณะกรรมการตรวจการจ้าง เมื่อคณะกรรมการตรวจการ จ้างพิจารณาแล้วเห็นว่าปริมาณงานเป็นไปตามที่ผู้ควบคุมงานรายงานจึงจะทําการตรวจรับงานก่อสร้างและเบิก จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามสัญญา
ในการดําเนินโครงการดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการตรวจการจ้างเพียง 1 ครั้ง เนื่องจาก ประธานกรรมการสิ้นสุดวาระการดํารงตําแหน่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย จึงขอลาออกจากการเป็นประธาน กรรมการ และมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการแทน
5. กระบวนการภายหลังจากการตรวจรับงาน
ภายหลังจากการตรวจรับงานงวดสุดท้ายแล้ว เกิดความชํารุดบกพร่องขึ้น มหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้าง เข้าดําเนินการแก้ไขตามข้อกําหนดของสัญญา รวมตลอดทั้งได้เร่งรัดและติดตามให้ผู้รับจ้างเข้าดําเนินการ แก้ไขเรื่อยมา โดยมีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างจํานวน รวม 8 ครั้ง ครั้งล่าสุดได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 แจ้งให้ดําเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน พร้อมทั้งแจ้งสงวนสิทธิ์การริบหลักประกัน ซึ่งจํานวน 13,209,500 บาท ไปยังธนาคารผู้ค้ําประกันสัญญา เมื่อผู้รับจ้างไม่เข้าดําเนินการตามกําหนดเวลาดังกล่าว จึงได้ดําเนินการสํารวจและประมาณการราคาในส่วนที่จะต้องแก้ไขความชํารุดบกพร่อง เพื่อจะได้แจ้งริบ หลักประกันสัญญากับธนาคารผู้ค้ําประกันต่อไป
ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อผู้รับจ้างไม่เข้าดําเนินการแก้ไขความชํารุดบกพร่องและอยู่ระหว่างการเรียกร้องสิทธิ บังคับเอาจากหลักประกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความรับผิดในความชํารุดบกพร่อง มหาวิทยาลัยจึงยังไม่เปิดให้ใช้งานอาคาร
มหาวิทยาลัยขอนแก่นใคร่ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ในการดําเนินการก่อสร้างของมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติของทางราชการอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยมีเจตนาและมุ่งหวัง เพื่อให้การดําเนินการแล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และตอบสนองต่อการใช้งานตาม วัตถุประสงค์ของโครงการ โดยยึดหลักความถูกต้อง สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้มาโดยตลอด และ ขอขอบคุณที่ท่านได้เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยชี้แจงข้อมูลและรายละเอียดของโครงการมา ณ โอกาสนี้
แจ้งเบาะแสประเด็นข่าวให้สำนักอิศราตรวจสอบได้ที่[email protected]