ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีชี้มูล 'รัตนา โรจน์พัฒนสุข' อดีตจนท.อาวุโส ธ.กรุงไทย สาขาคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ยักยอกเงินในบัญชีฝากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 พิพากษา ลงโทษจำคุกสองฐานรวม 166 ปี 510 เดือน แต่โดนจริง 50 ปี เจ้าตัวรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีชี้มูลกล่าวหา นางรัตนา โรจน์พัฒนสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสบริการลูกค้าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ยักยอกเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 , 268 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรกและวรรคสอง, 265 และ268 วรรคแรกและวรรคสอง และจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 11
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ.มาตรา 91 ประกอบมาตรา 90 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกระทงละ 1 ปี
จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานแรก รวม 83 กระทง 166 ปี 498 เดือน จำคุกฐานที่สองรวม 12 เดือน รวมทั้งสิ้น 166 ปี 510 เดือน
แต่อัตราโทษสำหรับความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไปต้องด้วยมาตรา 91 (3) คงจำคุกทั้งสิ้น 50 ปี
ยกคำขอให้จำเลยคืนเงินเพราะจำเลยวางเงินต่อศาลแล้ว
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8
ทั้งนี้คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ระบุว่า ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 265 ระบุว่า ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา 268 ระบุว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
อ่านข่าวอื่นในหมวดเดียวกัน :
ศาลอุทธรณ์ ยืนคุก10 ปี 'อดีตนายกฯบางบัวทอง' เรียกเงินผู้รับเหมา-นับโทษต่อคดีเก่ารวม15 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/