ยุติดราม่า! ‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’ อดีตปลัดคมนาคมไขก๊อกที่ปรึกษาอนุศึกษาแนวคิดสร้างนิคมราชทัณฑ์แล้ว ‘ชวนพิศ’ ด้วย ‘สมศักดิ์’พร้อมรับฟังเสียงวิจารณ์-ชี้แนวคิดสร้างนิคมฯเพราะปัญหานักโทษล้นคุก เผยเหตุแต่งตั้งเพราะเคยเป็นนักโทษจึงเข้าใจปัญหา ลั่นถ้าตั้งในอนุฯไม่เกี่ยวกับคุกคงบ้า ขอให้มองหลายมุม ด้าน ACT ซัดเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกประชาชน-กลายเป็นวัฒนธรรมเพิกเฉยคอร์รัปชั่น ชี้พ้นโทษคดีทุจริตมาไปได้หมดยกเว้นกลับมามีบทบาทในวงราชการ-การเมือง
จากกรณีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กรณีการแต่งตั้งนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และบุคคลที่เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 10 เดือน คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ โดยปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้วนั้น เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เขียนจดหมายถึง รมว.ยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ขอลาออกจากคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่คณะกรรมการราชทัณฑ์ได้มีคำสั่ง 1/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 18 มิ.ย.2563 แต่งตั้งตนเป็นคณะที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ตามรายละเอียดที่แจ้งแล้วนั้น
เมื่อได้รับการทาบทามจากกระทรวงยุติธรรม เห็นว่าจะสามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ มาถ่ายทอดให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และประเทศชาติ ผมจึงได้ตอบรับที่จะเข้าร่วม แต่ต่อมาได้รับทราบจากสื่อต่าง ๆ ว่ามีกระแสความไม่เห็นด้วยและเห็นว่า การที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ ชุดนี้ไม่มีความเหมาะสม
“ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งในสังคมและให้อนุกรกรมการฯ สามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศได้ทันที ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการฯ โดยมีผลทันทีจากวันที่ 22 มิ.ย.2563” นายสุพจน์ ระบุ
@ ‘ชวนพิศ’อดีตผู้ว่าฯ กคช.ไขก๊อกด้วย
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจบางประการที่รับผิดชอบและจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน อาจจะมีผลกระทบทำให้การทุ่มเทเวลาที่จะช่วยงานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์
@ก.ยุติธรรมจัดเสวนาระดมแนวคิดจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 ที่กระทรวงยุติธรรม มีการจัดเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นจากผลกระทบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ การคืนบุคคล ให้เป็นคนดีสู่สังคม โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการเสวนา ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้นำการเสวนา และนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรมผู้ดำเนินการเสวนา
โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสิทธิ สุธีวงศ์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิติองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นายพนิต บุญชะม้อย ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ นายฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล นักวิชาการสิทธิมนุษยชนด้านกระบวนการยุติธรรม นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสุนทร สุทรธาราวงศ์ ประธานมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน (บ้านพระพร) และนายวินรวีร์ ใหญ่เสมอ (ต๊ะ บอยสเก๊าท์)
@‘สมศักดิ์’ลั่นพร้อมรับฟังเสียงวิจารณ์-ชี้แนวคิดสร้างนิคมฯเพราะปัญหานักโทษล้นคุก
นายสมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีพร้อมรับฟัง และให้ความร่วมมือเต็มที่ เรื่องของเรื่องคือกระทรวงยุติธรรมดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ประเด็นคือเป็นการศึกษา ยังไม่ได้สร้าง ส่วนจะทำหรือไม่ทำ ต้องรอดู แต่เพียงการศึกษา โดยสิ่งสำคัญคือการแก้ความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากปัจจุบันมีคนอยู่ในเรือนจำประมาณ 3.8 แสนคน แต่เรือนจำจริง ๆ รับได้ 2.2 แสนคน เกินไป 1.6 แสนคน ตรงนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร นี่คือแนวคิด นอกจากนี้จากการเก็บสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังพบปัญหาว่า เมื่อมีคนพ้นโทษจากเรือนจำไปประมาณ 100 คน จะกลับเข้ามาใหม่ประมาณ 35 คน โดยส่วนใหญ่คนที่กลับเข้ามาคือคนยากจน คนมีรายได้น้อยไม่พอจุนเจือครอบครัว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้จึงคิดว่าจะแก้ไขอย่างไรดี ตนจึงพบกับนายโฆษิต สุวินิจจิต อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง เพื่อปรึกษากัน หลังจากนั้นจึงรับมาเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว เพราะเคยทำงานร่วมกัน เชื่อในฝีมือว่าจะเนรมิต หรือบันดาลเดีย หรือจินตนาการให้บังเกิดเกล้า แต่แค่นายโฆษิตคงไม่พอ เพราะคณะอนุกรรมการฯส่วนใหญ่เป็นข้าราชการหลายกระทรวง ดังนั้นจึงต้องเชิญที่ปรึกษามาอีก 5 คน ได้แก่ นางอัญชลี ชวนิชย์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม สมัยตนเป็น รมว.อุตสาหกรรม นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อดีตอธิบดีกรมทางหลวง มาเป็นที่ปรึกษา ให้พวกท่านเหล่านั้นใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์เพื่อระดมแนวคิดในการให้ผู้ต้องขังได้รับรางวัลกลับคืนสู่สังคม เช่น การสร้างอาชีพในนิคมอุตสาหกรรม เปิดโอกาสได้พบครอบครัว เป็นต้น
@เผยเหตุตั้ง ‘สุพจน์’ เพราะเคยเป็นนักโทษจึงเข้าใจปัญหา
รมว.ยุติธรรม กล่าวด้วยว่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ตนตั้งใจให้มาดูเรื่องที่เคยมีประสบการณ์ เคยเป็นผู้ต้องขัง เพราะน่าจะรู้ความต้องการ และเคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ดังนั้นเมื่อนอกเหนือจากรู้ใจผู้ต้องขังแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาเรื่องการขนส่งภายในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เช่น การออกแบบการขนส่งสินค้า การทำให้เป็นระบบ One Stop Service เป็นต้น
@ลั่นถ้าตั้งในโครงการที่ไม่เกี่ยวกับคุกคงบ้า-ขอให้มองครบทุกมุม
“ผมเคยเป็นรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 ครั้ง บางปีเคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ 2 กระทรวง ดังนั้นต้องทำให้มันจบ ส่วนจะศึกษาแล้วทำหรือไม่ จะเดินหน้าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้มองครบทุกมุม ถ้าหากผมจะสร้างสวนธารณะแล้วเชิญคุณสุพจน์มา ผมคงบ้า หรือไปสร้างอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องในคุก แล้วไปเชิญคุณสุพจน์มา คนที่แย่ที่สุดคือตัวผม แต่วันนี้มีการเชิญมาครบทุกภาคส่วน เป็นที่ปรึกษา 5 คน นอกจากนี้ยังเชิญคุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาเป็นที่ปรึกษาเพิ่มเติมด้วย หลังจากคุณสุพจน์ หรือคุณอัญชลี ที่มีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อ ผมรับฟัง ยินดีรับฟัง ไม่อยากให้เป็นข้อขัดแย้ง จะคุยอะไรก็ได้ นี่คือความตั้งใจ เชิญทุกคนมาดำเนินการ” รมว.ยุติธรรม กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์แล้ว ยังมีคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการฯ โดยกำหนดชั้นของผู้ต้องขังว่าใครมีสิทธิได้ออกมาพักโทษ โดยมีนายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานอนุฯ และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการเรื่องสาธารณูปโภคภายในเรือนจำฯ มีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นประธานอนุฯ เป็นต้น
@ACT ซัดเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกประชาชน-กลายเป็นวัฒนธรรมเพิกเฉยคอร์รัปชั่น
ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาโครงการมาและรับฟังทุกท่านในที่ประชุม ยอมรับว่าโครงการนี้มีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่เคยต้องขังกลับคืนสู่สังคม ถือว่าเป็นเรื่องดี ภาพรวมของโครงการนี้ไม่คัดค้านหรือปฏิเสธ ถ้าเป็นนโยบายของกระทรวงหรือรัฐมนตรีเห็นด้วย
นายมานะ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีประเด็นคือปัญหาใหญ่ด้านคอร์รัปชั่น ถ้าดูจากการประเมินขององค์กรโปร่งใสนานาชาติที่รัฐบาลพูดกันทุกปี และมีการผลักดันผ่านหลายหน่วยงาน ปัญหาใหญ่สุดคือทัศนคติของประชาชน ที่เห็นว่า เมื่อเห็นคนโกงแล้วก็เท่านั้น เพราะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือกว่าศาลจะพิพากษา ในระหว่างนี้บุคคลทุจริตดำรงตำแหน่งก็สร้างเครือข่ายคอนเนกชั่น เมื่อถูกลงโทษไปแล้วคนเหล่านี้ยังกลับมามีบทบาทในแวดวงราชการ หรือบทบาททางการเมืองได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกประชาชนเข้าไปอีกว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย จึงกลายเป็นวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมที่เมินเฉยต่อต้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ปล่อยไปเรื่อย ๆ ให้คนโกงได้ใจ จนไม่มีทางเอาชนะ และเสื่อมเสียเกียรติภูมิของไทย
@ชี้พ้นโทษคดีทุจริตมาไปได้หมดยกเว้นกลับมามีบทบาทในวงราชการ-การเมือง
นายมานะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกง มีการบัญญัติไว้ในหลายมาตรา เช่น ต้องช่วยป้องกันไม่ให้คนที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีบทบาท หรือปกครองบ้านเมือง หรือมีมาตรการใหม่ ๆ เช่น การตัดสิทธิทางการเมืองบุคคลที่จะเข้ามาเป็น ส.ส. หรือเข้ามาในวงการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และเข้าใจว่าคนไทยทุกคนต้องช่วยกันจรรโลงทิศทางที่ดี เพื่อก้าวไปข้างหน้า
“ใครก็แล้วแต่เมื่อต้องขังแล้ว เข้ามาสู่ระบบราชการ หรือการเมือง เป็นเรื่องที่รับได้หมดเลย แต่คดีคอร์รัปชั่น ไม่ใช่คดีลักวิ่งชิงปล้น แต่คดีคอร์รัปชั่นเป็นคดีทำลายชาติ ทำให้ผู้คนล้มตาย เดือดร้อน มีลักษณะพิเศษ เป็นความตั้งใจในการใช้อำนาจทำลายประเทศรุนแรง ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐธรรมนูญถึงกำหนดมาตรการเหล่านี้” นายมานะ กล่าว
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตำแหน่งของคนที่จะมาอยู่ในคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ต้องเรียนว่าความรู้สึกของประชาชน ระบบการเมือง และระบบราชการ เชื่อว่าคนที่ออกมาจากการคุมขังแล้ว ยังมีโอกาสในสังคมอีกมาก จะไปทำธุรกิจ ไปเที่ยววัด เที่ยวห้าง หรือทำธุรกิจทำมาค้าขายสามารถทำได้ แต่มามีบทบาทในหน่วยงานรัฐ หรือบทบาททางการเมืองอีกรั้ง เป็นไปไม่ได้ การกระทำอย่างนี้ เกี่ยวข้องกับบุคคลอย่างนี้ ต้องไม่เป็นต้นแบบให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เพื่อไม่ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเกิดความเข้าใจผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ นี่เป็นประเด็นหลักในการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ทั่วโลกยึดถือ และเชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ
@ไม่อยากให้ช้ำชอก! ‘สมศักดิ์’ไฟเขียวให้ลาออกได้
ท้ายที่สุด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากนายสุพจน์แล้ว และจะดำเนินการตามที่เขียนมา เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดความช้ำชอกมากกว่านี้ เพราะการตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯดังกล่าว เพียงแต่ต้องการความรู้ความสามารถ ตามที่นายโฆษิต สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน และไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยง หรือค่าตอบแทนอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่นายสุพจน์อาสามาทำ เพียงแต่เราไม่สามารถไปนอนในเรือนจำได้ จึงต้องหาคนทำความเข้าใจ ในส่วนที่ได้จากเขาคงเพียงพอแล้ว ได้พูดได้คุยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรั้งนายสุพจน์ไว้ ให้ความชอกช้ำได้หยุดไว้ตั้งแต่วันนี้
“มีบางส่วนที่ต้องเรียนว่า สื่อบางคนที่มีบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเขา มันอาจจะเป็นการเมืองอยู่เบื้องหลังสื่อ สะท้อนภาพแตกต่างไปจากสิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) พูดไว้ มีการแปลงสารไปอย่างอื่น ให้มีความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ผิดแปลกไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
https://www.youtube.com/watch?v=qnqYifvD_oE&t=42s
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/