'อิศรา' อัพเดตความเคลื่อนไหวสถานการณ์โคโรน่าไวรัสทั่วโลกล่าสุด ยอดติดเชื้อ 6.8 ล้าน- 'WHO' เตือน คนแก่อายุเกิน 60 ปี ต้องสวมหน้ากากทางการแพทย์ทุกกรณี ชี้หน้ากากผ้าธรรมดาเอาไม่อยู่ คนทั่วไปต้อง 3 ชั้นขึ้นไปเท่านั้น-'บราซิล'ขู่ ถอนตัว 'WHO' หวั่นเป็นองค์กรการเมือง-องค์กรไม่แสวงหากำไร 330 แห่ง เรียกร้องเฝ้าระวังเหมืองแร่ทั่วโลกหวั่นเป็นศูนย์รวมแพร่เชื้อโควิด หลังพบคนงานติดเชื้อแล้ว 4 พันราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัสว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกประกาศเตือนว่าประชาชนที่อายุเกิน 60 ปี หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพควรที่จะใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ทุกกรณีถ้าหากต้องออกไปนอกเคหสถาน ขณะที่ประชาชนทั่วไป ถ้าหากจะออกไปนอกเคหสถานก็ควรจะใช้หน้ากากผ้าที่ใส่ซ้อนกัน 3 ชั้นขึ้นไป
โดยการประกาศเตือนครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ WHO เกี่ยวกับการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดในที่สาธารณะ ซึ่ง WHO มักจะอ้างเสมอว่ามีหลักฐานปรากฎเพียงเล็กน้อยว่าการใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการติดเชื้อได้
WHO ยังระบุด้วยว่า หลักปฏิบัติเรื่องการให้ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ต้องใส่หน้ากากทางการแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ควรจะต้องกระทำในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ผู้สูงอายุก็จำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากทางการแพทย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อและผลลบอื่นๆที่จะตามมา
เช่นเดียวกันกับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้านก็ควรที่จะใส่หน้ากากทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน
WHO ยังได้แนะนำต่อว่า สำหรับบุคคลอื่นๆ ที่ต้องออกนอกเคหสถานนั้นควรที่จะใส่หน้ากากผ้าที่มี 3 ชั้นเป็นอย่างน้อย ประกอบไปด้วยชั้นที่ 1 ซึ่งแนบชิดกับใบหน้า ควรจะมีลักษณะเป็นผ้าซึ่งมีคุณลักษณะในการดูดซึมของเหลวได้ ชั้นที่ 2 ควรจะเป็นชั้นของพลาสติกพีพี หรือพอลิโพรไพลีนซึ่งมีใช้ในวัสดุจำพวกห่ออาหาร และชั้นที่ 3 ควรจะเป็นชั้นผ้าสังเคราะห์ที่มีคุณลักษณะกันของเหลวได้
ซึ่งหน้ากากเหล่านี้นั้นสามารถที่จะผลิตเองที่บ้าน หรือบริษัทเล็กๆ ก็สามารถจะผลิตหน้ากากลักษณะนี้เพื่อการจำหน่ายได้เช่นกัน
WHO ยังได้แนะนำต่อว่าประชาชนควรที่จะสวมใส่หน้ากากอนามัยไม่ใช่แค่ทั้งบนรถประจำทางหรือบนรถไฟเท่านั้น แต่ควรจะสวมหน้ากากในทุกๆที่ที่ยากต่อการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ในร้านขายของชำ ในที่ทำงาน สถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มากเช่นโรงเรียน และศาสนสถานเป็นต้น
รัฐบาลเองก็ควรจะแนะนำให้ประชาชนของตัวเองปฏิบัติตามหลักการการใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัดด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆนั้น มีรายงานจากเว็บไซต์ Mingwatch ของประเทศแคนาดา ว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 330 แห่งจากทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงมูลนิธิบูรณนิเวศหรือ Ecological Alert and Recovery Thailand (EARTH) จากประเทศไทย ได้ร่วมกันลงนามเรียกร้องให้มีการเฝ้าระวังอุตสากรรมการทำเหมืองแร่ทั่วโลก ว่า อาจจะกลายเป็นศูนย์รวมของการแพร่ระบาดโควิด 19 ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้พบว่า มีคนงานเหมืองแร่จำนวนกว่า 4,000 ราย จาก 18 ประเทศทั่วโลกติดเชื้อโควิด 19 แล้ว
ขณะที่ประเทศบราซิล มีรายงานว่า นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ได้ออกมาประกาศว่า บราซิลนั้นอาจจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก WHO เนื่องจากเห็นว่า WHO นั้น มีลักษณะเป็นองค์การทางการเมืองกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป
สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลกนั้น ในช่วงเช้าวันที่ 6 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย เว็บไซต์ World Meter ได้รายงานจำนวนตัวเลขผู้ป่วยทั้งสิ้นว่า มีอยู่ที่ 6,839,487ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 130,529 ราย เสียชีวิต 397,446ศพ เป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ 4,906ศพ
ทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดทั้งในทวีปและในโลก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,965,708 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 25,393 ราย เสียชีวิต 111,390 ศพ เป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ 975 ศพ
ทวีปอเมริกาใต้ บราซิล มียอดผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของทวีปและอันดับ 2 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 646,006 ราย ติดเชื้อใหม่ 30,136 ราย เสียชีวิต 35,047 ศพ เสียชีวิตใหม่ 1,008 ศพ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตใหม่นั้นถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ทวีปยุโรปรัสเซียมีผู้ติดเชื้อ 449,834 ราย ติดเชื้อใหม่ 8,726 ราย เสียชีวิต 5,528 ศพ เป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ 144 ศพ
ส่วนที่ประเทศอังกฤษนั้นมีผู้เสียชีวิตใหม่อยู่ที่ 357 ศพ ทำให้ผู้เสียชีวิตรวมของอังกฤษอยู่ที่ 40,261 ศพแล้ว
ทวีปเอเชีย ประเทศอินเดีย ยังคงมีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 1 ของทวีป โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 236,184 ติดเชื้อใหม่ 9,471 ราย เสียชีวิต 6,649 ศพ เสียชีวิตใหม่ 286 ศพ
ส่วนสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนสิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 37,183 ราย ติดเชื้อใหม่ 261 ราย โดยเป็นแรงงานต่างชาติติดเชื้อจำนวน 250 ราย เสียชีวิตสะสม 24 ราย
ขณะที่อินโดนีเซีย มียอดติดเชื้อรายวันสูงสุดในอาเซียนอยู่ที่ 261 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมและรายวันสูงสุดในอาเซียนอยู่ที่ 1,770 ศพ เป็นผู้เสียชีวิตใหม่ 49 ศพ
ทวีปแอฟริกาประเทศแอฟริกาใต้นั้นเป็นประเทศที่ติดเชื้ออันดับ 1 โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 43,434 ราย และเสียชีวิต 908 ศพ
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/coronavirus-outbreak+tone/explainers,https://www.worldometers.info/coronavirus/,https://miningwatch.ca/sites/default/files/global_solidarity_statement_on_mining_pandemic_profiteers_0.pdf
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage