สำนักงานกสทช.เผยข้อมูลจำนวนผู้ใช้สิทธิ 'เน็ตฟรี 10 GB-อัพสปีดอินเตอร์เน็ตบ้าน 100 Mbps' พร้อมรายชื่อผู้ประกอบการโทรคมฯที่จะได้รับเงินชดเชยจากกสทช. เตรียมชงบอร์ดกสทช.อนุมัติ 1.4 พันล้านบาท ก่อนจ่ายเงินชดเชย 1-31 ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำหนังสือถึงนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละราย ผลประโยชน์ที่ได้รับ พร้อมแสดงข้อมูลที่บ่งบอกถึงประโยชน์ที่ประชาชนและกสทช.จะได้รับอย่างชัดเจนนั้น
ล่าสุดสำนักงานกสทช. เผยแพร่รายงานผลการดำเนินมาตรการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ฟรี 10 GB และปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) เป็น 100 Mbps เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการด้านโทรคมนาคมในการทำงานที่บ้านและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยพบว่า
1.การให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband : MBB) ฟรี 10 GB นั้น มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้จัดส่งข้อมูลผู้ที่มีสิทธิได้รับบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ โดยเปิดให้ขอรับสิทธิตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2563 ถึง 30 เม.ย.2563 มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิฯ 14,894,270 ราย แบ่งเป็นระบบเติมเงิน 12,590,303 รายคิดเป็น 84.53% และระบบรายเดือน 2,303,967 ราย คิดเป็น 15.47%
หากพิจารณาจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้จัดส่งข้อมูลผู้ที่มีสิทธิฯ ณ วันที่ 30 เม.ย.2563 พบว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด มีจำนวนผู้ขอรับสิทธิมากที่สุด คิดเป็น 58.40% รองลงมาเป็นบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีจำนวนผู้ขอรับสิทธิคิดเป็น 23.91% และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด มีจำนวนผู้ขอรับสิทธิ คิดเป็น 16.53% เป็นต้น (รายละเอียดตามตาราง)
2.การให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband : FBB) เป็น 100 Mbps มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้จัดส่งข้อมูลผู้ที่มีสิทธิเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้าน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,303,486 รายการ เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 1,279,474 รายการ และไม่ได้รับสิทธิรวมทั้งสิ้น 24,012 รายการ
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิอัพความเร็วอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กรณีผู้ที่ได้รับสิทธิที่ได้เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านในวันที่ 10 เม.ย.2563 จำนวน 1,256,837 ราย โดยผู้ที่ได้รับสิทธิในกลุ่มดังกล่าวมีจุดรับสิทธิเพียง 1 จุด แต่ไม่รวมผู้ได้รับสิทธิจาก Simat ที่มีจุดรับสิทธิเพียง 1 จุด 5,371 ราย เนื่องจากผู้ประกอบการรายดังกล่าวจัดส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช. ล่าช้า ส่งผลให้ผู้ได้รับสิทธิของ Simat ทั้งหมด จะได้รับสิทธิเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านในวันที่ 17 เม.ย.2563
และ2.กรณีผู้ที่ได้รับสิทธิเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านในวันที่ 17 เม.ย.2563 จำนวน 22,637 ราย เป็นผู้รับสิทธิที่มีจุดรับสิทธิมากกว่า 1 จุด และเป็นผู้ได้รับสิทธิของ Simat ที่มีจุดรับสิทธิเพียง 1 จุด 5,371 ราย ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 จุด สามารถแจ้งขอการเปลี่ยนแปลงจุดรับสิทธิได้ระหว่างวันที่ 10-14 เม.ย.2563 (รายละเอียดตามตาราง)
อย่างไรก็ตาม สำนักงานกสทช. ยังไม่มีการจัดสรรเงินสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแต่อย่างใด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการนำส่งระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-10 ก.ค.2563 จากนั้นจะจัดทำรายงานสรุปเสนอ กสทช. และจัดทำวาระเสนอ กสทช. ระหว่างวันที่ 13-31 ก.ค.2563 และจะดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายกรณี MBB และการหักค่าลดหย่อน USO กรณี FBB ในช่วงวันที่ 1-31 ส.ค.2563
สำหรับกรณีให้บริการเพิ่มอินเตอร์เน็ตมือถือฟรี 10 GB ผู้ประกอบการฯจะได้รับเงินชดเชยอยู่เลขหมายละ 100 บาท ส่วนอัตราจ่ายเงินชดเชยกรณีการเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 Mbps จะได้รับเงินชดเชยเลขหมายละ 50 บาท
ด้านนายฐากร กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกอบการฯทั้ง 2 กรณี จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้ทั้งหมด 3,000 ล้านบาท เนื่องจากมีประชาชนเข้ามาใช้สิทธิฯน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
อ่านประกอบ :
ACT จี้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลช่วยเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมช่วงโควิด-19 ต่อสาธารณะ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/