ที่ประชุมคกก.ร่วมฯรถไฟไทย-จีน ได้ข้อยุติสัญญา 2.3 จีนยอมลดค่างานลง 3 พันล้าน ส่งผลให้ค่างานทั้งสัญญาเหลือ 5.06 หมื่นล้าน ไฟเขียวจ่ายค่างานเป็นสกุลเงินดอลลาร์ 80% ที่เหลือ 20% จ่ายเป็นเงินสกุลบาท ‘ศักดิ์สยาม’ คาดลงนามสัญญาไม่เกิน ต.ค.นี้ พร้อมเปิดให้บริการเดินเส้นทาง 'กรุงเทพ-โคราช' ปี 66
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 28 ผ่านระบบ Video Conference ว่า ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนได้เจรจาเกี่ยวกับร่างสัญญา 2.3 การวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ โดยได้ข้อยุติว่าฝ่ายไทยจะจ่ายค่างานสัญญา 2.3 ให้ฝ่ายจีน เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 80% ที่เหลืออีก 20% จ่ายเป็นสกุลเงินบาท
ขณะเดียวกัน ฝ่ายจีนตกลงที่จะลดค่างานสัญญา 2.3 ให้กับฝ่ายไทยเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินค่างานสัญญา 2.3 ลดลงเหลือ 50,633.5 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ตกลงกันไว้ที่ 53,633 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยจะจ่ายเงินในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ 1,313.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 40,506.8 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินบาท 10,126.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะทยอยจ่ายเงินค่างานให้รัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งเป็นคู่สัญญากับฝ่ายไทย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงฯจะรายงานผลการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ และเสนอร่างสัญญา 2.3 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในเร็วๆนี้ จากนั้นจะส่งร่างสัญญา 2.3 ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากส่วนราชการต่างๆ ก่อนเสนอให้ครม.เห็นชอบภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ตนบอกกับฝ่ายจีนว่า ไทยจะจัดทำร่างสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ต.ค.2563 หรือเร็วกว่านั้น และเมื่อลงนามแล้วก็จะเริ่มวางระบบได้ภายในปีนี้เลย
“จะเรียนเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญา 2.3 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งการลงนามคาดว่าจะอยู่ภายในเดือนต.ค.หรือเร็วกว่านั้น เช่น เดือนส.ค.-ก.ย.63 และนี่ถือเป็นข่าวดีว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่จะรับสินค้าจากจีน ลาว ส่งต่อผ่านประเทศไทยลงไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย และข้างล่าง แล้วเลี้ยวไปยังประเทศข้างๆไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา”นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นกรุงเทพ-หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา 253 กม. วงเงินก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี หรือเริ่มก่อสร้างปี 2561 และเปิดให้บริการเฟสแรกปี 2566 ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 2.11 แสนล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2563-68
อ่านประกอบ :
'รับเหมาไทย' สะเทือน ‘บ.จีน’ รุกคืบแย่งเค้กไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’
ครม.แก้สัญญาไฮสปีดไทย-จีน ใช้ดอลลาร์แทนเงินบาท
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage