'นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. มอบหมายกระทรวงศึกษาฯ ออกประกาศให้โรงเรียนทั้งใน-นอกระบบ เปิดเรียน1 ก.ค.นี้ เตรียมความพร้อมให้เด็กได้ ดื่มนม 260 วันต่อปีการศึกษา อุดหนุนอาหารกลางวัน 20 บาทต่อหัว นับรวมจัดการสอนแบบออนไลน์ จ่ายให้ผู้ปกครองด้วย จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เผย 'บิ๊กป้อม'สั่ง บจธ.ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรด้วย
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศให้โรงเรียนทั้งในและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยกระทรวงศึกษาจะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กำหนดแนวทางที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้นักเรียนได้ดื่มนมจำนวน 260 วันต่อปีการศึกษา โดยภาคเรียนที่ 1/2563 กรณีเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตั้งแต่ 18 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2563 กรณีเปิดภาคเรียนหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ สลับวันมาเรียน ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนนั้น นางนฤมล กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้นักเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก และชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับประทานอาหารกลางวัน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา โดยอุดหนุนเงินอัตรา 20 บาทต่อคนต่อวัน
สำหรับกรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ให้จ่ายงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเพื่อนำไปจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานที่บ้าน รวมถึงอาหารมื้ออื่น ๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเคยจัดให้ ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ กรณีมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยนั้น ให้โรงเรียนดำเนินการจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้เช่นเดียวกับวันจัดการเรียนการสอนตามปกติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ในระหว่างการประชุมครม. พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอแนะให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน : บจธ.) ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินสามารถพึ่งพาตนเองได้ ใน 2 กรณี คือ 1. การช่วยเหลือครอบคลุมทุกจังหวัด โดยให้จังหวัดบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจากฐานราก และสร้างความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกร 2.ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทำให้ไม่มีรายได้ เห็นควรให้สถาบัน บจธ.ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาดังกล่าว ให้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอ และ 3.การดำเนินงานของ บจธ. เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้งบประมาณไม่มากแต่เกิดผลดีต่อประเทศ ในระยะยาว เพราะเป็นการทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งด้วยตนเอง โดยเริ่มจากความมั่นค ในการมีที่ดินทำกิน น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage