ธปท.เผยไตรมาส 1/63 แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 4.1% เหตุธุรกิจขนาดใหญ่กู้เงินเพิ่ม แทนการออก ‘ตราสารหนี้’ หลังตลาดเงินผันผวน ขณะที่หนี้เสียทั้งระบบ 3.05% เหตุเจอผลกระทบจากโควิด-จัดชั้นตามมาตรฐาน TFRS 9
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (64.8% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.3% ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเภทธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวน ส่งผลให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตรา 5.3% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวเล็กน้อยที่ 0.2%
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 5.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อน และชะลอตัวลงในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ สอดคล้องกับการลดลงของยอดซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตชะลอตัวลงมากตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง
สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 ด้อยลงจากสิ้นปี 2562 เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 496,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.70%
นายธาริฑธิ์ ระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2563 มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.83 ล้านล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 18.7% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 7.19 แสนล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่ 143.3% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ที่ 185.7%
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.29 หมื่นล้านบาท หลังหักรายการพิเศษจากรายได้เงินปันผลที่จ่ายระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในขั้นตอนการควบรวมกัน โดยลดลง 7.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารยังทรงตัว โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.03% จาก 1.14% ในไตรมาสก่อน
ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) เพิ่มขึ้นจากเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งสถาบันการเงินจะดำเนินการส่งผ่านประโยชน์ที่ได้จากการปรับลดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในระยะถัดไป หากไม่รวมผลของการปรับลดเงินนำส่ง FIDF และการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่ NIM จะทรงตัวที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
“ไตรมาส 1 ปี 63 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อของธุรกิจรายใหญ่” นายธาริฑธิ์ระบุ
นอกจากนี้ ธปท.ยังสรุปผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกโดยธปท. ว่า มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ 26 ล้านราย ยอดหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 19.5 ล้านล้านบาท โดยในส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทนั้น มีผู้มีได้รับสินเชื่อ 25,123 ราย วงเงินสินเชื่อ 42,655 ล้านบาท
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage