ศบค. เเถลงสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 นศ.ไทยติดเพิ่ม 3 ราย ทั้งหมดเดินทางกลับจากปากีสถาน-อียิปต์ รวมป่วยสะสม 3,028 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เผยมีร้านค้าลงทะเบียนผ่าน 'ไทยชนะ' กว่า 1 หมื่นร้าน กรุงเทพฯ มากที่สุด 3,420 ร้าน
วันที่ 17 พ.ค. 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ว่ามีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เพิ่ม 3 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 3,028 ราย รักษาหาย 1 ราย รวมรักษาหาย 2,856 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เท่ากับมีผู้เสียชีวิต 56 คน รักษาตัวในโรงพยาบาลเหลือเพียง 116 ราย
โดยผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 3 ราย เป็นผู้ชายทั้งหมด เดินทางมาจากต่างประเทศ เเละเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ ได้เเก่ นักศึกษาไทย อายุ 23 ปี เดินทางกลับมาจากประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เเละนักศึกษาไทยอายุ 21 ปี เเละ 23 ปี เดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อยืนยันดังกล่าวได้รับการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูก ก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบินโดยสารเเละไม่พบว่ามีการติดเชื้อ เเต่มาพบการติดเชื้อในสถานกักกัน ฉะนั้นระยะฟักตัวจึงใช้เวลาพอสมควร ในระยะเวลา 14 วัน
โฆษก ศบค. กล่าวต่อถึงจำนวนร้านค้าลงทะเบียนผ่าน www.ไทยชนะ.com วันที่ 17 พ.ค. ภายหลังมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่สอง พบว่า มีทั้งหมด 11,599 ร้าน โดย 10 อันดับเเรก คือ กรุงเทพฯ 3,420 ร้าน ชลบุรี 877 ร้าน นนทบุรี 611 ร้าน สมุทรปราการ 545 ร้าน ปทุมธานี 423 ร้าน เชียงใหม่ 381 ร้าน สุราษฎร์ธานี 357 ร้าน นครราชสีมา 311 ร้าน ขอนเเก่น 248 ร้าน เเละสงขลา 219 ร้าน ซึ่งการลงทะเบียนจะส่งผลดี กรณีที่มีข่าวพบผู้ติดเชื้อ จะทำให้มีระบบการดูเเลที่จำกัดคนได้ โดยไม่ต้องกวาดทุกคนเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส
พร้อมกันนี้ยังระบุถึงความเเตกต่างของเเอปพลิเคชั่น หมอชนะ กับการลงทะเบียน ไทยชนะ ว่า หมอชนะเป็นเเอปที่ให้ประชาชนเข้าไปกรอกประวัติเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงเเละเเสดงตน เเต่ระบบใหญ่อย่างไทยชนะ จะประกอบด้วยไป หมอชนะ เเละอื่น ๆ อยู่ในระบบนี้ ดังนั้นจึงเป็นเเพลตฟอร์มใหญ่เข้ามาทำให้ได้รับความสะดวกขึ้น
ส่วนมาตรการผ่อนคลายระยะสองมีเเนวโน้มดีขึ้น ไม่มีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ จะไม่มีการพิจารณาต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เเละอาจนำกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เข้ามาใช้เเทนหรือไม่นั้น นายเเพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า มอบหมายให้คณะกรรมการด้านกฎหมายไปศึกษา พบว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนให้นำเสนอขึ้นมา ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการรวบรวมกฎหมายหลายสิบฉบับเข้ามา เพื่อทำให้เกิดมาตรการดูเเลสังคมในสถานการณ์โรคมีความรุนเเรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง เเต่ยังมีเรื่องเครื่องบินมาลงได้หรือไม่ เป็นต้น คณะกรรมการด้านกฎหมายต้องไปศึกษา ดังนั้นต้องประมวลกฎหมายหลายด้านมาประกอบ เพื่อทำให้การควบคุมการนำเชื้อเข้าเเละในประเทศอยู่ในการดูเเลทั้งหมด ดังนั้น ต้องดูลึกซึ้ง หากสถานการณ์ของโลกเเละไทยดีขึ้น เชื่อว่าไม่มีความจำเป็น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage