ทอท.ยันไม่พบมีการลักลอบขาย ‘ของเหลว-เจล-สเปรย์’ ที่ยึดจากผู้โดยสารในสนามบิน ระบุของทุกชิ้นต้องถูกทำลาย-เททิ้ง ไม่หลุดไปนอกสนามบินแน่ พร้อมย้ำมีการตรวจสอบภายในแล้วไม่พบ ‘จุดรั่ว’ เตรียมทำหนังสือประสาน ‘ดีเอสไอ’ ขอข้อมูลเพิ่ม หลังแจ้งพยาน 2 ปาก ให้การว่าผู้จัดการฝ่ายขายบริษัทคู่สัญญาฯ ลักลอบขายเจล ลั่นหากพบผิดจริงต้องลงโทษ
สืบเนื่องจากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
หลังจากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของดีเอสไอ พบว่า มีพยานผู้ซื้อขยะจากโรงคัดแยกในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ราย ให้การยืนยันว่า ก่อนมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานฯ พยานได้ทำการซื้อขายสินค้าที่มีลักษณะเป็นของเหลว เจล หรือสเปรย์ จากผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการบริหารจัดการขยะในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาจำหน่ายในตลาดจริง
ล่าสุดนายอนันต์ หวังชิงชัย รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ได้อ่านข้อมูลและอ่านข่าวจากเว็บฯของสำนักข่าวแล้ว ก็รู้ข้อมูลเท่ากัน และเท่าที่เห็นจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นมีตรงไหนที่สรุปชัดได้ว่า เรามีการลักลอบอะไรกัน อย่างเช่นจุดที่ไปตรวจเจอก็อยู่ตามท้องถนน ซึ่งบนท้องถนนของจะแวะขึ้นแวะลงจากไหน ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรใช่หรือไม่
“ของที่จับได้ที่เขียนว่าเป็นเครื่องสำอางๆ แล้วใช่ของเหลว เจล สเปรย์ ที่มาจากผู้โดยสารหรือเปล่า ก็ไม่เห็นมีการพิสูจน์กัน อันนี้ก็งงๆเหมือนกันว่า แล้วสืบเรื่องกันมาได้อย่างไรต่อ ส่วนเรื่อง DSI มีหนังสือมาจริง แต่มาแค่นั้นจริงๆ รู้เท่ากัน ไม่มีมาเลยว่าพยาน 2 รายนั้นคือใคร ให้การว่าอย่างไร เดี๋ยวเราจะประสานเข้าไปว่าพอมีข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีอะไรหรือเปล่า เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ รู้เท่ากันเลยว่ามีพยาน 2 รายให้การแล้วยังไงต่อ ให้ผมทำอย่างไร” นายอนันต์กล่าว
นายอนันต์ ระบุ หลังจากทอท.ได้รับหนังสือจากดีเอสไอแล้ว เราได้ทำการเช็คกันภายในของเรา เราเช็คกันว่า มีตรงไหนรั่วหรือเปล่า ก็ยังไม่เจอเลยจุดรั่ว
นายอนันต์ ย้ำว่า “เราอยากได้ข้อมูลนะว่า มีจุดโหว่ตรงไหน เราเองก็ไม่เห็นจะเจอตรงนั้น และถ้าดีเอสไอที่ได้กรุณาเข้ามาตรวจสอบแล้ว ถ้ามีสรุปผลมาว่ามีการกระทำผิดจริง เราจะได้หาจุดแก้ไข แต่หนังสือที่มา ไม่ได้มีบทสรุปความผิดอะไรเลย มีแค่พยานให้การอย่างนี้แค่นั้นเอง”
นายอนันต์ ยังกล่าวว่า “เราได้คุยกับ TARF (บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด ผู้ดำเนินการบริหารจัดการขยะในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ) ตลอด ทาง TARF ยืนยันว่า ไม่มี และตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าพยาน 2 คนนั้น คือ ใคร จะไปขยายผลอย่างไร”
“เรามีคณะภายในของเราเองที่จะรวบรวมข้อมูล ทั้งจาก TARF และเจ้าหน้าที่ของเรา เรารวบรวมได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่พบข้อสงสัยตรงนั้น และเราได้ตรวจสอบแล้ว มาตรการทั้งหลายของเรา รัดกุม ครบถ้วนแล้ว ต่อไปคงต้องเช็คทางต้นตอ ข้อมูลทั้งหลายว่าเป็นอย่างไรแค่ไหน แต่ถ้าข้อมูลไม่ชัดเจน ครบถ้วน เราคงไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป มันไปต่อไม่ได้ และจริงๆเขาทำเสร็จในระดับของเขาแล้ว ไม่ได้ช้า
เพียงแต่ผมขอว่า ในเมื่อดีเอสไอได้แจ้งมาแล้ว ถ้าให้สมบูรณ์ไปขอข้อมูลเพิ่มจากดีเอสไอดีกว่าว่าพยาน 2 ปาก มีข้อมูลอะไรเพิ่มหรือไม่ ส่วนกระบวนการภายในของเรายุติ ครบถ้วนแล้ว ไม่พบความผิด” นายอนันต์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากทอท.ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากดีเอสไอ และในอนาคตหากตรวจสอบพบว่าผู้จัดการฝ่ายขายบริษัทฯ นำของเหลว เจล สเปรย์ ไปขายจริง จะกระทบต่อสัญญาของบริษัท TARF หรือไม่ นายอนันต์ กล่าวว่า “ใครที่ผิดก็ต้องลงโทษ และถ้าคนทำผิด บริษัทฯจะไม่ผิดได้เหรอ ในเมื่อของอยู่ในมือบริษัทตั้งแต่ต้นทางมาเลย ถ้ามีคนทำ บริษัทฯจะไม่รับรู้ได้เลยหรือ ถ้าผิดก็ต้องเด็ดขาดว่ากันตามสัญญา”
นายอนันต์ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการจัดการขยะประเภทของเหลว เจล หรือสเปรย์ ว่า จุดเริ่ม คือ หลังจากตรวจพบว่าผู้โดยสารมีของเหลว เจล หรือสเปรย์ เกินข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เรื่องการรักษาความปลอดภัย ก็จะไม่อนุญาตให้นำของเหลวติดตัวเข้าไป ส่วนกระบวนการจัดการนั้น ผู้ที่คัดกรองตรงนั้น พอได้ของเหลวมาก็จะให้เลือกว่าผู้โดยสารจะทำลายเอง หรือจะทำให้เขาไปทำลาย โดยปกติเขาจะทำลายกันตรงนั้นเลย
“โดยปกติเขาก็จะทำลายกันตรงนั้น เททิ้ง บิด ทำลายหัว จากนั้นก็รวบรวมขยะใส่ถุงมา แล้วนำไปขึ้นรถ เราจะมีการนับจำนวนถุง เรามีกล้องวงจรปิดตลอดทาง รถเราก็ติดจีพีเอส เราจะรู้หมดเลย ไปตำแหน่งไหน และบนถนนก็เป็นถนนใหญ่ เรื่องที่จะไปแอบซุกแอบซ่อนอะไร ไม่มี กล้องวงจรปิด เรามีตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงที่โรงคัดแยกฯ หากจะมีหลงเหลือตรงไหน หรือจะมีการเททิ้ง ก็เททิ้ง ซึ่งจุดตรงนั้นเราก็มีกล้องถ่ายไว้อีก กระบวนมีแค่นี้” นายอนันต์กล่าว
ส่วนขวดแก้ว ขวดพลาสติกนั้น เป็นสิทธิ์ที่บริษัท TARF เขาเอาไปจำหน่ายได้ เพราะเป็นของรีไซเคิล และตามข้อสัญญาเขาสามารถเอาไปได้ เนื่องจากเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเอาไปจำหน่าย
เมื่อถามว่ารถที่เข้ามารับขวดแก้ว ขวดพลาสติก จากโรงคัดแยกขยะ หลังจากเทของเหลวทิ้งไปแล้ว เป็นรถของใคร นายอนันต์ กล่าวว่า "จะเป็นรถของคู่ค้าของบริษัท TARF ที่เขาติดต่อกัน เป็นคู่สัญญากัน เมื่อเขาขายให้ใครก็ติดต่อมารับกัน โดยของทั้งหมดจะไม่มีของเหลวเลย เพราะที่เป็นของเหลวจะถูกเททิ้งไป" เมื่อถามว่ามีเจ้าหน้าที่ของทอท.กำกับดูแลโรงคัดแยกขณะหรือไม่ นายอนันต์ ระบุว่า "เรามีเจ้าหน้าที่กำกับเป็นประจำอยู่ตรงนั้น"
นายอนันต์ กล่าวกรณีบันทึกประจำของตำรวจกรณีตรวจค้นรถตู้ต้องสงสัย และพบว่ามี (1) ถุงเครื่องสำอางค์ 8 ถุง (2) ถุงขวดน้ำมีน้ำ 12 ถุง (3) ถุงอาหารกระป๋องและนม 7 ถุง โดยผู้ขับขี่รถตู้ฯ ยอมรับว่า ได้รับจ้างขนของดังกล่าวมาจากโรงคัดแยกขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้รับการว่าจ้างจากหญิงคนหนึ่ง ‘เพื่อจะนำไปทิ้ง’ ว่า บันทึกประจำวันตรงนั้นไม่ได้มีการส่งมาให้ทอท. แล้วจะให้เราดำเนินการอย่างไร
“ก่อนที่จะให้ทอท.ทำอะไร ถามว่าบันทึกนั้น มาถึงทอท.อย่างไร ซึ่งมาไม่ถึงไม่ใช่เหรอ แล้วจะให้อยู่ดีๆ ให้เราไปเที่ยวหาบันทึกประจำวันเหรอ และตำรวจก็ไม่ได้ประสานอะไรมา” นายอนันต์กล่าว
นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า “ขยะในสนามบินมีร้อยแปดพันเก้าเลยนะ ที่บอกว่ามีอาหารกระป๋อง นม ก็อาจจะมีแหล่ง เช่น จาก catering (ทำอาหาร) หรือจากโรงแรมที่เขามีอะไรจะทิ้งก็ทิ้งมาได้”
นายอนันต์ กล่าวว่า “ผมสงสัยแค่ว่า ทำไมเรื่องนี้ก็พร้อมกับช่วงที่มีการประมูล (งานบริหารจัดการขยะในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ซึ่งมีฟ้องร้อง เป็นช่วงเดียวกันเลย คือ เป็นช่วงมิ.ย.2562”
เมื่อถามว่ากรณีที่มีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดหรือผู้ค้าสินค้าออนไลน์โฆษณาขายสินค้าว่า สินค้าที่นำมาขายเป็นของยึดได้จากผู้โดยสารในสนามบิน นายอนันต์ กล่าวว่า ตามตลาด ตนก็ไม่รู้ว่าแหล่งจริงๆมาจากไหน และไม่รู้ว่าไปคุยแบบนั้น เพื่อให้ได้ราคาหรือไม่ โดยบอกว่าเป็นของแท้ เป็นของนักท่องเที่ยวจริง ไปโฆษณากันเองหรือเปล่า
“หลักฐานคืออะไร อยู่ตรงไหน และที่จับ จับได้บนถนนอย่างนี้ เออ ถ้าเกิดจับได้คาตาที่โรงคัดแยกเลย ผมว่าตำรวจมีสิทธิ์ค้นนะ จะตรวจพื้นที่ไหนก็เข้าได้หมดอยู่แล้ว ทำไมต้องไปรถคันนั้น ท่านอาจจะสืบ มีสาย หรือมีข้อมูลอะไร ผมไม่รู้ แต่ทำไมต้องเป็นถนนที่ออกจากสนามบิน แล้วจะไปบางนา-ตราดอยู่แล้ว แค่ออกจากโรงขยะก็เป็นพื้นที่สาธารณะทั่วไปอยู่แล้ว คนทั่วไปสามารถมาได้บนถนนได้หมดเลย” นายอนันต์กล่าว
นายอนันต์ ยังกล่าวถึงการกำจัดขยะ ประเภทขยะติดเชื้อภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า ขยะดังกล่าวจะถูกขนไปยังสถานที่ที่กำหนดเลย แต่มีไม่มาก และขยะประเภทนี้จะต้องเผาภายนอกสนามบิน และการนำขยะไปจัดการภายนอกนั้น จะมีหลักฐานตลอด โดยการทำงานสัมปทานตรงนี้ บริษัทคู่สัญญาจะต้องรายงานตลอดว่าขยะติดเชื้อที่ออกไป ไปกี่ถุงและเมื่อไหร่ ณ วันไหน และสถานที่ไหน
สำนักข่าวอิศราติดต่อไปยังบริษัท TARF เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงกรณีที่ดีเอสไอระบุว่าในหนังสือถึงทอท.ว่า มีผู้นำของเหลว เจล สเปรย์ จากโรงคัดขยะของบริษัทไปขาย โดยเจ้าหน้าที่ที่รับสายระบุว่า จะรายงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทราบ พร้อมขอเบอร์ติดต่อกลับ
อ่านประกอบ :
โชว์หนังสือ DSI แจ้ง 'พยาน’ ซัดทอด ผจก.ฝ่ายบ.เอกชน ลักลอบขาย ‘ของเหลว' ตรวจยึดจากสนามบิน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage