ธปท.เผยปี 62 มีผลขาดทุน 3 แสนล้านบาท เหตุเงินบาทแข็งค่า 7.62% ฉุดมูลค่าเงินทุนสำรองฯที่ตีราคาเป็นเงินบาท-ราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศลดลง ล่าสุดผลประกอบการพลิกกำไร 3.65 แสนล้านบาท ไตรมาส 1/63 ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่เงินทุนสำรองฯแกร่งพุ่งแตะ 2.59 แสนล้านดอลล์
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่งบการเงินของ ธปท. ปี 62 โดยระบุว่า ธปท.มีผลขาดทุนรวม 3.006 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนรวม 1.532 แสนล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการขาดทุนทางบัญชีจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation หรือ unrealized loss) โดยเฉพาะการตีราคาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.62% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ธปท.ระบุว่า แม้ว่าธปท.จะมีรายรับดอกเบี้ยจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศสูงกว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินนโยบายการเงินต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีรายรับดอกเบี้ยสุทธิ 1.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นบวกต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศและต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อีกทั้งยังสามารถบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศให้เป็นบวก และสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิงได้
แต่จากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation) กลับทำให้ธปท.มีผลการขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ 1.887 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลการขาดทุนดังกล่าวเป็นการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท ณ สิ้นปีปัจจุบันเทียบกับสิ้นปีก่อน เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นในปี 2562 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทุกสกุล
ส่วนการปรับสัดส่วนการลงทุน (portfolio investment) และอื่นๆ ทำให้ธปท.มีผลขาดทุนสุทธิ 1.264 แสนล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนจากการซื้อขายตราสารเพื่อปรับการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รวมถึงกระจายความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ผลขาดทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนมีต้นทุนในรูปของเงินบาทสูงกว่าราคาขายสินทรัพย์ดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่ธปท.ปรับวิธีการบันทึกบัญชีของตราสารอนุพันธ์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้เกิดผลขาดทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท
ธปท. ย้ำว่า ในขณะที่ธปท.มีผลขาดทุนในปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินบาท แต่เนื่องจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง เพื่อรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศให้เพียงพอสำหรับรองรับความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก รักษาอำนาจซื้อในตลาดโลกของระบบเศรษฐกิจ และเงินสำรองระหว่างประเทศให้มีสภาพคล่องเพียงพอพร้อมใช้ในกรณีที่จำเป็น รวมถึงหนุนหลังธนบัตรออกใช้
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับมูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศ มากกว่าการตีราคากลับมาเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 2.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2561
นอกจากนี้ ผลการศึกษาทางวิชาการจากประสบการณ์ของธนาคารกลางในหลายประเทศชี้ว่า หากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีเหตุมีผลและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลขาดทุนของธนาคารกลางไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานตามพันธกิจของธนาคารกลาง โดยเฉพาะถ้าผลขาดทุนส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นจากการตีราคาตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
“ในกรณีของ ธปท. แม้งบการเงินของปีที่ผ่านมารายงานผลการดำเนินงานขาดทุน แต่ ธปท. ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลง 8.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ ธปท. มีกำไรสุทธิสูงถึง 365,000 ล้านบาท ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของ ธปท. แต่อย่างใด” ธปท.ระบุ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage