ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท เตรียมเสนอทูลเกล้าฯต่อไป 'ปลัดคลัง' คาดมีผลบังคับใช้ไม่เกินต้นพ.ค.นี้ พร้อมเปิดให้ผู้ลงทะเบียน 12 ล้านคน ที่ถูกตัดสิทธิ์รับเงินเยียวยาโควิด 5 พันบาท กรอกข้อมูลใหม่ 20 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ร่างพ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน 5 แสนล้านบาท และร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 4 แสนล้านบาท โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะนำร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดปลายเดือนเม.ย. หรือช้าที่สุดต้นเดือนพ.ค.นี้
นายประสงค์ ยังแถลงสรุปมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า นับตั้งแต่กระทรวงการคลังได้เปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินเยียวยา 27 ล้านคน โดยมีการทยอยจ่ายเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 3 ล้านรายเศษ อีก 6 ล้านคน มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมและมีการส่งข้อมูลมาแล้ว 1.9 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตัดสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 12 ล้านคน เนื่องจากข้อมูลที่ลงทะเบียนไม่ชัดเจน หรือมีการกรอกข้อมูลผิด เช่น มีการกรอกคำนำหน้านาย นาง หรือนางสาว มีการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง ชื่อและเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ตรงกัน พิมพ์ผิด เว้นวรรคไม่ถูกต้อง เป็นต้น โดยจะมีการเปิดให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ 'www.เราไม่ทิ้งกัน.com' ในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้
"วันจันทร์หน้า (20 เม.ย.) เราจะเปิดทบทวนสิทธิ์ โดยให้ผู้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ เช่น ถ้าเป็นอาชีพขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ถ้าเป็นหมอนวดแผนไทยต้องมีใบอนุญาตฯ หากทำอาชีพค้าขาย จะมีการเข้าไปตรวจสอบว่าได้ผลกระทบหรือไม่ โดยในต่างจังหวัดจะให้กำนัน ผู้ใหญ่ตรวจสอบ และส่งข้อมูลเข้ามาผ่านระบบไอที ส่วนในกรุงเทพฯจะให้พนักงานธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงไปดู" นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์ ยังระบุว่า กรณีที่ผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่ได้สิทธิ์ เพราะระบบแจ้งว่าเป็นเกษตรกรนั้น ข้อมูลดังกล่าวมาจากการนำเลขบัตรประชาชน 13 หลักของผู้ลงทะเบียน ไปตรวจสอบและเปรียบเทียบกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อพบว่ามีการลงทะเบียนเป็นเกษตรกรเอาไว้จึงไม่ได้สิทธิ์เยียวยารอบนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยาเกษตรกรในเร็วๆนี้ ก็ขอให้ไปรอเงินเยียวยารอบนั้น โดยหนึ่งคนจะได้สิทธิ์เยียวยาเพียงสิทธิ์เดียวเท่านั้น
นายประสงค์ กล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินงบประมาณที่นำมาจ่ายเป็นเงินเยียวยาผลกระทบโควิด 5,000 บาทนั้น จะมีขั้นตอน คือ จะจัดสรรจากงบกลางปี 2563 ก่อน แต่หากไม่พอก็จะนำมาจากงบประมาณปี 2563 และ 2564 ที่ถูกแปรเป็นงบกลาง หากไม่เพียงพออีกจึงจะใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยพ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวจะแบ่งเป็นเงิน 3 ส่วน คือ 1.งบสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท 2.งบจ่ายเยียวยา 5,000 บาท วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท และ3.งบฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย 4 แสนล้านบาท
ด้าน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน
"ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยรวม 3 เดือนจะใช้เงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันสังคมมีเงินเพียงพอในการรองรับมาตรการส่วนนี้อยู่แล้ว โดยคาดว่าสำนักงานประกันสังคมจะออกประกาศภายในวันที่ 17 เม.ย.นี้" นายสุทธิกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/