นายกฯ กางแผนแจกเงิน 5 พันบาท เยียวยาโควิด-19 ยันช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม รวมถึงเกษตรกร ย้ำตอนนี้มีเงินช่วยเหลือแค่ 1 เดือนก่อน ส่วนที่เหลือขออดใจรอ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่มเกษตรกร อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ส่วนกรณีที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 แต่ไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา และได้ไปชุมนุมที่กระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรีบสร้างความเข้าใจกันใหม่ โดยรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เวลานี้รัฐบาลมีงบประมาณที่จะนำไปจ่ายเงินเยียวยาให้กับคนทุกกลุ่มเพียงแค่เฉพาะเดือนเม.ย.นี้เท่านั้น โดยเป็นการใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2563 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนเงินที่จะนำมาจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับกระทบในช่วง 2 เดือนที่เหลือ คือเดือนพ.ค.-มิ.ย.นั้น จะต้องรอ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วก็สิ้นเดือน เม.ย.หรือช้าที่สุดคือต้นเดือน พ.ค.
“วันนี้ผมเห็นใจและสงสารทุกคน แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลทุกคนอยู่แล้ว ผมเห็นทุกคนร้อนใจ วันนี้ผมก็ร้อนใจไม่น้อยไปกว่าทุกท่านเช่นเดียวกัน แต่ขอให้อดทนและเข้าใจรัฐบาลด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เงินที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชนวันนี้มาจากหลายส่วน ซึ่งได้ย้ำไปแล้วว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตขึ้นได้ โดยนอกจากงบกลาง ประจำปี 2563 รัฐบาลจะเสนอให้พิจารณา พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่คาดว่าจะทำได้ประมาณ 10% หรือไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยเงินในส่วนนี้จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภา และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือน มิ.ย.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่จะได้มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเงิน มีแต่แผนการเตรียมการเท่านั้น โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย. อย่างช้าที่สุดคือต้นเดือน พ.ค. โดยเงินส่วนนี้จะนำไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในช่วงเดือนถัดไป เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะออก พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อบริหารระบบการเงินการคลังของประเทศ ต่อไป
“การกู้เงินครั้งนี้จะทยอยกู้เป็นก้อนๆ ไม่ใช่ว่าเรามีเงิน 1 ล้านล้านบาททีเดียว แต่เงินก้อนนี้ไม่ทันเอามาใช้ในเดือนเมษายนอยู่แล้ว ดังนั้นการจ่ายเงินเยียวยาเราจะจ่ายแค่ 1 เดือนก่อน ระหว่างนี้ก็จะตรวจสอบว่าขาดเหลือหรือตกหล่นตรงไหนหรือมีปัญหาที่ระบบตรวจสอบที่คัดกรองคนออกไป ตรงนี้ต้องดูทั้งหมด ผมยืนยันว่าจะดูแลทุกคนอย่างเต็มที่ ตามขีดความสามารถที่มีอยู่ของรัฐ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่มีอยู่ 11 ล้านคน ตรงนี้จะได้รับการเยียวยาผ่านเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ปลดล็อกข้อกฎหมายไปแล้วพอสมควร เช่นเดียวกับเกษตรกร 17 ล้านคน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเงินจากแหล่งอื่น ที่ได้ย้ำไปแล้วว่า ทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมายงบประมาณ รวมถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ
“วันนี้ต้องขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาล หยุดการทำงานเพื่อการเมือง และช่วยกันบริหารราชการแผ่นดิน เป็นรัฐบาลของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ส่วนอีกฝ่ายที่กำลังโจมตีกันอยู่ ขอให้ฟังเหตุฟังผลบ้าง บางทีฟังแล้วอาจจะคล้อยตามกันได้ง่ายก็ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง วันนี้ถ้ามารู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็จะรู้ว่าเสี่ยงอันตรายแค่ไหนในการใช้งบประมาณ ผมขอยืนยันว่าจะต้องไม่มีการทุจริต ขอให้ทุกคนอดทน และขอโทษด้วยหากันยังไม่ได้รับเงินกันอย่างทั่วถึง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำลังจะครบกำหนด 1 เดือนในวันที่ 30 เม.ย.นี้ด้วยว่า เรื่องนี้อยู่ในการประเมินของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่จะต้องชั่งน้ำหนักในหลายด้าน แม้ว่าสถานการณ์แนวโน้มจะลดลงในบางช่วง เพราะเราป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี แต่หากขาดความร่วมมือหรือมีการลดหย่อนความเข้มงวดลงไป ก็อาจจะทำให้โรคระบาดกลับมาได้อีก โดยเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนเองทราบดีว่ามีผลกระทบกับทุกคน และรัฐบาลก็หามาตรการอื่นมาทดแทนต่อไป เช่นเดียวกับการผ่อนปรนความเข้มงวดต่างๆ ก็จะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. แต่ถ้าจะต้องการผ่อนปรน ทุกอย่างจะทำแบบค่อยเป็นไปค่อยไป และแต่ละพื้นที่ต้องแสดงให้เห็นว่า มีมาตรการป้องกันดูแลเพื่อไม่ให้เชื้อกลับมาระบาดอีกได้อย่างไรบ้าง
ขณะที่ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อติดตาม บูรณาการ ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เพื่อให้การจัดทำมาตรการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยมีกรรมการ 11 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีผู้อำนวยการสำนักงานงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/