ภาคเอกชนยื่น 12 ข้อเสนอผ่านคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน 'ศบค.' ขอรัฐอุ้มธุรกิจช่วงวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่จ่ายค่าแรงยันเปิดช่องทางเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น ขณะที่ 'สภาหอการค้าไทย' คาดหากสถานการณ์ยืดเยื้ออีก 3 เดือน ยอดคนตกงานพุ่ง 10 ล้านคน
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษา ศบค. ว่า ที่ประชุมได้รับฟังปัญหาและหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหา หลังที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ระยะ โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำทำงาน 5 ชุด เพื่อพิจารณาข้อเสนอภาคธุรกิจเพิ่มเติม ได้แก่
1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพิจารณาหาแนวทางให้ผู้ประกอบรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น
2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ที่จะเข้าไปดูว่า ธุรกิจใดที่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้โดยไม่กระทบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้ามาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่จะต้องหาแนวทางที่ทำให้เกิดการจ้างงานได้ต่อไป
4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกมาในระยะสั้น รวมถึงต้องหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว
5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล ถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
นายทศพร กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการแบ่งงานกันแล้ว แต่กลุ่มจะรับฟังปัญหาจากภาคธุรกิจและพิจารณาในรายละเอียด ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในวันจันทร์หน้า และจัดทำให้ข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีการประมาณการว่าในภาพรวมจะมีแรงงานตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน คาดว่าจะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน
ขณะที่ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้หลายธุรกิจยังไม่ได้เลิกจ้างพนักงาน และต้องจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากเป็นภาครัฐยังไม่มีคำสั่งให้ปิดกิจการ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าแรงให้ 50% ของค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการรับผิดชอบ 25% หากทำได้ตามนี้จะทำให้ไม่เกิดปัญหาปลดพนักงาน
สำหรับการประชุมดังกล่าว เอกกชนมีการหยิบยกข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ และที่ประชุมมอบหมายคณะทำงาน 5 ชุดที่ตั้งขึ้น ทำหน้าที่พิจาณากลั่นกรองก้อนเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ โดยข้อเสนอทั้ง 12 มาตรการ ประกอบด้วย
1.ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน
2.เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า
3.ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม
4.ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ปีภาษี (2562-2563) กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20%
5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ
6.ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ
7.อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชม. ละ 40-41 บาท 4-8 ชม/วัน
8.ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1%
9.ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง
10.บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า
11.การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน
12.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ สศช. ยังได้เปิดช่องทางผ่านเฟซบุ๊ก 'ร่วมด้วยช่วยคิด' เพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชน โดยจะรวบรวมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไปอีกด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/