อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ เผย 93 ห้องปฏิบัติการทุกสังกัด ตรวจโควิด-19 แล้วกว่า 100,000 ตัวอย่าง ยืนยันโครงการ 1 จังหวัด 1 เเล็ป ไม่ได้จัดตั้งใน รพ.สต. ชี้สร้างห้องปฏิบัติการต้องมีนักเทคนิคการเเพทย์ พร้อมปัดข่าวการตั้งงบฯ หลายพันล. จัดซื้อเครื่องมือ -เชื่อมโยงทุจริตนักการเมือง 30%
วันที่ 13 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายเเพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ เปิดเผยถึงการให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด -19 ในห้องปฏิบัติการว่า เป็นมาตรการสำคัญ ทั้งในเรื่องการป้องกัน ควบคุม เเละวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตรวจที่เป็นมาตรฐานเเละองค์การอนามัยโลกเเนะนำให้ใช้เพื่อการตรวจ คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมจากคอ จมูก หรือทางเดินหายใจ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ ดำเนินการขยายขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการในทุกจังหวัดเเละกรุงเทพฯ ให้มีความพร้อมในการรองรับการตรวจตัวอย่างอย่างน้อย 20,000 ตัวอย่าง/วัน
กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ จึงดำเนินโครงการ 1 จังหวัด 1 เเล็ป 100 ห้องปฏิบัติการ โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานมหาวิทยาลัย เเละภาคเอกชน ทั้งนี้ มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 28 ห้อง จากเป้าหมาย 100 ห้อง โดยขณะนี้สามารถดำเนินการเปิดห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน 93 ห้องเเบ่งเป็น กระทรวงสาธารณสุข 46 ห้อง (สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 23 ห้อง กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ 15 ห้อง กรมควบคุมโรคเเละกรมการเเพทย์ 8 ห้อง) ภาคเอกชน 28 ห้อง (ในกรุงเทพฯ เเละปริมณฑล 22 ห้อง ต่างจังหวัด 6 ห้อง) เเละหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย 19 ห้อง จึงขอให้มั่นใจว่า มีเพียงพอ เเละคาดว่าจะเกิน 100 ห้องในอนาคต เนื่องจากภาคเอกชนเเละในต่างจังหวัดมีความประสงค์จะเปิดห้องปฏิบัติการอีก
" ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2563 ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 100,498 ตัวอย่าง เฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 4 – 10 เมษายน 2563 ตรวจได้ 16,490 ตัวอย่าง"
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ กล่าวถึงการจัดหาเครื่องมือเเละน้ำยา ว่า ในส่วนของภาคเอกชนเป็นผู้จัดการเองทั้งหมด โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย เเละกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ไม่ได้ซื้อเครื่องมือใหม่ เนื่องจากเครื่องมือเดิมมีอยู่เเล้ว
"โรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัด บางเเห่งมีเครื่องมือเดิมอยู่เเล้วหรือหน่วยงานที่ไม่มีเครื่องมือจะมีวิธีการจัดซื้อน้ำยาเท่านั้น ส่วนเครื่องมือจะได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องจัดซื้อเอง" นายเเพทย์โอภาส กล่าว เเละว่า ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการเพียง 4 เเห่ง ได้เเก่ จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุดรธานี เเละพิษณุโลก ที่จัดหาเครื่องมือตรวจ โดยใช้เงินของโรงพยาบาล
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ กล่าวย้ำว่า การดำเนินงานโครงการนี้ไม่มีการกำหนดซื้อเครื่องมือเเบบรวมเเละไม่มีการกำหนดสเปค มีเพียงให้เเต่ละหน่วยงานจัดการตามความเหมาะสมของตนเอง เนื่องจากการจัดตั้งห้องปฏิบัติการนั้นต้องมีนักเทคนิคการเเพทย์ ตรวจเครื่องมือเหล่านี้ เพราะฉะนั้นตามที่มีการนำเสนอข่าวว่า จะมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงไม่เป็นความจริงเเละมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจาก รพ.สต.ไม่มีนักเทคนิคการเเพทย์ประจำ รวมทั้งที่มีการนำเสนอว่า จะตั้งงบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อจัดซื้อเครื่องมือ เเละเชื่อมโยงเกี่ยวเรื่องการทุจริตกับนักการเมือง 30% ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง
"เราทำห้องปฏิบัติการเกือบครบ 100 ห้องเเล้ว ไม่มีการของบกลางหรืองบประมาณเพิ่มเติมเเม้เเต่บาทเดียว ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์จะดำเนินการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เพียงพอ" นายเเพทย์โอภาส กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage