วชิรพยาบาลเปิดตัว ‘PARR v.2’ หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวกรุ่นใหม่ เบื้องต้นสร้าง 1,000 ชุดแรกแจก 500 รพ.ทั่วประเทศ เม.ย.นี้ ต่อสู้โรคโควิด-19 ผนึกพันธมิตรเครือ ปตท.ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ด้วย
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2563 รศ.นพ. อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะแพทย์และวิศวกรของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลได้พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพหมวกอัดอากาศความดันบวก (PAPR) ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ห้องผ่าตัดหรือในห้องความดันลบ (Negative Pressure) สำหรับป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดีมากยิ่งขึ้นสำเร็จแล้ว โดยการปรับปรุงขนาดของพัดลมอัดอากาศและกล่องให้กำลังไฟฟ้าที่ใช้อัดอากาศจากเพาเวอร์แบงก์ (Power Bank) ที่ให้กำลังมากขึ้น โดย PAPR เวอร์ชั่น 2 จะให้แรงดันอากาศภายในหมวกมากขึ้นถึงประมาณ 200 กว่าลิตรต่อนาที ขณะที่การผลิตชุดแรก PAPR สามารถให้แรงดันตามมาตรฐานคือ 110 ลิตรต่อนาทีเท่านั้น
รศ.นพ. อนันต์ กล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์นี้มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจะเร่งผลิต PAPR เวอร์ชั่น 2 ส่งให้โรงพยาบาลของรัฐที่รับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างน้อยโรงพยาบาลละ 2 ชุด โดยยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่จะผลิตและจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทยให้ได้จำนวน 500 ชุดภายในเดือน เม.ย. 2563 หลังจาก 500 ชุดแรกนี้ คาดว่าสายการผลิต PAPR ที่พันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมคือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ในกลุ่ม ปตท. และบริษัทพันธมิตรอื่นที่เข้ามาร่วมพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จะสามารถเปิดสายการผลิตได้และน่าจะสามารถผลิต PAPR ที่ดำเนินการโดยภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศในระดับ 1,000 ชุด หรือราว 500 โรงพยาบาลได้ภายในเดือน พ.ค. 2563 เพื่อปกป้องและให้ความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องดูแลทำหัตถการสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการทางเดินหายใจอื่น
ส่วน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าว่า นอกจากการผลิต PAPR ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมได้เข้ามาสนับสนุนการผลิตนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้ามาดำเนินการผลิตเปลนอนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบเพื่อขนย้ายผู้ป่วยตามรูปแบบที่วชิรพยาบาลประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีผู้ป่วยโรคนี้โดยจะได้ดำเนินการผลิตเปลนอนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำเพียงประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อเปล เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสั่งซื้อจากต่างประเทศประมาณเปลละ 400,000-600,000 บาทให้เสร็จสิ้นและส่งมอบให้โรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลละ 1 เตียงภายในเดือนเมษายนนี้และจะได้นัดส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศชุดแรกจำนวน 30 โรงพยาบาลในวันอังคารที่ 7 เมษายนนี้ ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า บริษัท PTTGC และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ในกลุ่ม ปตท. ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของประเทศก็อยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตชุดป้องกันมาตรฐานสูงสุดในทางการแพทย์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ (PPE) ที่กำลังขาดแคลนอย่างมากในการใช้ทำหัตถการในห้องผ่าตัดหรือในห้องดูแลผู้ป่วยความดันลบ มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายและติดต่อได้ในทางอากาศระหว่างทำหัตถการเหล่านี้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจสูงสุดในการดูแลให้การรักษาผู้ป่วย โดยจะใช้วัตถุดิบจากเม็ดพลาสติก Medical Grade ถักทอขึ้นเป็นผืนผ้าสามารถกันน้ำและสิ่งปนเปื้อนได้ และจะตัดเย็บขึ้นรูปเป็น PPE มาตรฐานสูงตามความต้องการของคณะแพทย์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งไม่สามารถทำได้เลยในขณะนี้ โดยจะผลิตวัตถุดิบและตัดเย็บตามมาตรฐานที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในประเทศกำหนดขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศในปริมาณที่มากที่สุด ภายในเดือนเมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2563 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้จัดส่งอุปกรณ์เร่งด่วนทางการแพทย์ ประกอบด้วย PAPR 2 ชุด และหน้ากาก N95 ที่สามารถใช้ซ้ำ (Reusable) จำนวน 20 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่รับผู้ป่วยโควิดอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศรีนครินทร์ พังงา เมืองพัทยา และเบตง ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/