ครม.นัดพิเศษ อนุมัติหลักการบรรจุพนักงาน และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้าราชการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จำนวน 45,684 ตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ เห็นชอบในหลักการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นข้าราชการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 45,684 ตำแหน่ง สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยครม.มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข หารือกับ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) และสำนักงานพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) และทำเรื่องเสนอครม. ให้อนุมัติอีกครั้งในวันที่ 7 เมษายน 2563นี้ เพื่อนำสู่การปฏิบัติโดยเร็ว
ขณะที่เว็บไซต์ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า จากกรณีที่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข กว่า 4 หมื่นตำแหน่ง ได้บรรจุ เป็นข้าราชการ โดยก่อนการประชุม นายอนุทิน ได้เตรียมเสนอมาอย่างดี โดยจดรายละเอียดในสิ่งที่เตรียมจะเสนอ ครม.ไว้ในกระดาษหลายแผ่น เนื้อหามีดังนี้
" วันนี้มีเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 7 เรื่องที่เกี่ยวกับการเยียวยาโควิด 19 แต่ผมจะขอนำเสนอด้วยตนเองในเรื่องที่ 3 คือเรื่องการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติม จากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนนี้ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์ จำนวน 45,684 คน จากบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน แต่ผมขอความกรุณา คณะรัฐมนตรีอย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องจำนวนบุคลากรเหล่านี้ ล้วนเป็นบุคลากรวิชาชีพ อาทิเช่น แพทย์พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เป็นบุคลากรที่มีทักษะ และได้รับการอบรมเป็นอย่างดี ประเทศจะต้องรักษา ให้ระบบสาธารณสุข คงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน
แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆของกลไกราชการ บุคลากรเหล่านี้ มีสภาพเป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ กระทรวงสาธารณสุข ใช้เงินบำรุง ของแต่ละโรงพยาบาล มาว่าจ้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อมีข้อสนอที่ดีกว่าจากภาคส่วนอื่นๆ เขาก็ต้องไปทำงาน ในที่ที่มีรายได้มากกว่า ทั้งที่ต้นทุนในการฝึกฝนทักษะ รัฐเป็นผู้ลงทุนไว้
เมื่อมีสถานการณ์โรค Covid-19 ในครั้งนี้ เราได้เห็นความทุ่มเท เสียสละ และความมุ่งมั่น ของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ ที่เข้าไปต่อสู่ รักษา ป้องกัน อย่างสุดความสามารถ ที่จะทำได้เกิดความปลอดภัยแก่คนในชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่า โรคโควิด นอกจากจะคร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตบุคลากร สธ. มากที่สุดด้วย
การปรับสถานะให้เขามีความมั่นคงในอาชีพการงาน จะทำให้คุณภาพของการบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ค้างคามานานต้องใช้อำนาจในการบริหารเท่านั้น ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้ บุคคลเหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทาง เป็นสายอาชีพ ที่นำเสนอมานี้ไม่ใช่เป็นการขออัตราเพิ่ม แต่เป็นการ ทุกวันนี้ ทำให้ระบบมีความสมบูรณ์
ทุกวันนี้เราใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลจ้าง ก็เหมือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ต่อให้ปรับสถานะของเขา ก็ไม่ได้เท่ากับจะทำให้เขามีรายได้เท่ากับที่เขาไปทำงานกับเอกชน แต่อย่างน้อยคำว่า ข้าราชการก็จะทำให้เขามีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของพวกเขา สามารถทดแทนทางเลือก ที่จะไปทำงานในภาคส่วนอื่น เนื่องจากมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้เรามีความยั่งยืนมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม เราจะมีบุคลากรด้านการสาธารณสุข ที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ความพร้อมและศักยภาพ ในการรับมือโรคระบาดใหญ่ในอนาคต
และที่สำคัญที่สุด เรากำลังสร้างฐานที่มั่นคงให้กับการสาธารณสุข ที่พร้อมดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากโควิด คนเหล่านี้จะเป็นผู้ดูแล รักษา และป้องกันโรค ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอาย ที่แข็งแรงมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็งอันดับต้นๆของโลกตลอดไป หากข้อเสนอนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เราจะสร้างความมั่นคงให้กับบุคลากรด้านการสาธารณสุขได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการวางรากฐานและเสริมระบบที่มั่นคงให้กับระบบ สธ. ให้แข็งแกร่งยั่งยืน ด้วยผลลัพธ์ที่ได้มาคือ สธ.มีบุคลากรที่เข้มแข็ง มากด้วยประสบการณ์ และความชำนาญ โรงพยาบาลไม่ต้องนำเงินบำรุงมาจ้างบุคลากรที่มีความไม่แน่นอน ว่าจะอยู่ได้นานหรือไม่ และสามารถนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาหน่วยบริการ แก้ไขปัญหาการเงิน ตามภารกิจของ ร.พ.ได้ นี่คือสิ่งที่ได้รับกลับมา ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามและความทุ่มเท ที่พวกเขาใส่ลงไป ไม่สูญเปล่า "