'สมคิด' แจง ออก 3 มาตรการดูแลเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาด แจงยึดหลักการใช้ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตามต่างชาติ ยันไม่ใช่การกู้หมด แต่แบ่งจากงบประมาณบางส่วน
วันที่ 3 เมษายน เวลาประมาณ 12.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวชี้แจงถึงมาตรการการดูด้านเศรษฐกิจ ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายสมคิด กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีการประชุมถึงมาตรการการเยียวยาเศรษฐกิจไทยชุดที่ 3 ซึ่งจะมีความครอบคลุมทุกมุติในระยะเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ 1.การเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ส่วนที่ยังขาดอยู่ 2. มาตรการเสนอเพื่อให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่มีความติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก 3 -4 เดือนข้างหน้า และ 3.การเข้าไปดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งตอนนี้แม้ยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะสถาบันทางการเงินของประเทศไทยนั้นยังคงมีความเข้มแข็ง แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการตามมาตรการใน 3 กลุ่มนี้นี้เพื่อความไม่ประมาท
"มาตรการทั้งหมดเป็นการดูแลประชาชน หากส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป ท้ายสุดก็กระทบไปที่ประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย ทางการได้ดูแลตรงนี้ ออกมาตรการนำเสนอครม.ในหลักการวันนี้ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะไปดูเรื่องของกฎเกณฑ์ เพราะบางส่วนอาจมาจากงบประมาณ บางส่วนมาจากการกู้ยืม"
ครอบคุลุมกลุ่มเกษตรกร
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการการดูแลภาคประชาชนนั้น จะเริ่มครอบคลุมไปถึงกลุ่มเกษตรกร และจะดูแลลูกจ้าง ผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วและจะดำเนินการต่อไป รวมไปถึงการดูแลเรื่องการผ่อนต่างๆ ให้กับประชาชน ซึ่งกู้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะมีประชาชนจำนวนมาใช้บริการ ขอสินเชื่อจากสถาบันเหล่านั้น และการเข้าไปดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น การเสริมสร้างอาชีพ โอกาสทักษะใหม่ให้กับชุมชน
นายอุตตม กล่าวว่า งบประมาณการดูแลนั้นจะต้องมี 2 ส่วนสำคัญ คือ การรับมือกับสถานการณ์และการดูแลประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่กลับไปประกอบอาชีพหลังจากเหตุการณ์โรคระบาดนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งอาชีพเขาอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหลังจากสถานการณ์ระบาดผ่านพ้นไปด้วย และในอนาคตก็จะมีการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เรื่องการกู้ยืมเงินต่อไป ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ
ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการ
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ พักเงินต้นและดอกเบี้ย และจะมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งรายละเอียดนั้นจะต้องรอหลังจากการหารือกับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 เม.ย.ที่จะถึงนี้อีกทีหนึ่ง
"เรากำลังทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออก ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยตรงได้ด้วยเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย คล้ายปี 2555 วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ และขอทำมาตรการเหมือนทำหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เราได้ศึกษามาตรการธนาคารกลางหลายประเทศที่ทำมาตรการคล้ายๆ กัน คือขอให้มีการออกพ.ร.ก.ให้ธปท.เข้าไปซื้อตราสารที่ครบกำหนดได้ เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี และมีเงื่อนไขในการคัดกรอง "
นายวิรไท กล่าวถึงมาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก จาก 5 ล้านบาท ลดเหลือ 1 ล้านบาท จะยืดไปเป็นสิงหาคมปี 2564 และเลื่อนการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์
เมื่อถามว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 2 ฉบับหรือไม่ นายวิรไท กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงินแต่อย่างใด แต่จะเป็น พ.ร.ก.เพื่อที่จะให้ ธปท.สามารถใช้เงินของตัวเองเพื่อบรรเทาสถานการณ์โรคระบาดได้ ไม่ใช่การกู้เงินออกมาใหม่
เมื่อถามต่อว่า มีข่าวลือว่ามาตรการดังกล่าวนี้จะเป็นการใช้งบประมาณถึงหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงการกู้เงินหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า การใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนกลุ่มกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่มนั้น เป็นหลักการที่ยึดอยู่ที่ร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่ต่างประเทศได้ใช้เพื่อเยียวยาสถานการณ์ โดยส่วนหนึ่งเงินที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุน 3 มาตรการนี้ ก็มาจากงบประมาณของประเทศ ที่บางส่วนจะนำมาใช้ได้ แต่จะมีอีกส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็คือเงินเดือนของข้าราชการ ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการกู้ยืมกัน เพื่อให้ถึงเงินจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยถ้าต้องมีการกู้เงิน จะมีการกู้ยืมอยู่ 2 ส่วนคือ กระทรวงการคลัง เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ และ ธปท.ที่กู้เงินมาเพื่อออกสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการต่อไป แต่ขอยืนยันว่า ทั้งหมดนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้แน่นอน
เมื่อถามว่า มีการหารือกันเพื่อตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละกระทรวงเพื่อจะนำมาแก้ปัญหาโควิดหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ได้มีการหารือกัน และกระทรวงการคลังก็จะไปหารือกับสำนักงบประมาณต่อไป แต่เบื้องต้นนั้นขอชี้แจงว่าทุกกระทรวงนั้นเห็นด้วยในหลักการ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/