ศาล รธน.สั่งจำหน่ายคดี ปม 3 จำเลยคดีคลองด่านฟ้อง กรมควบคุมมลพิษ-รมว.ทรัพยฯ แยกฟ้องคดีขัด รธน. ม.25 ชี้ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต้องห้ามวินิจฉัยอีก แถมการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่ง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง โดยนายพิษณุ หรือพิศณุ ชวนะนันท์ อดีตกรรมการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ อดีตกรรมการบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด และนายนิพนธ์ โกศัยพลกุล อดีตกรรมการบริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด มีกรมควบคุมมลพิษ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-2 กรณีแยกฟ้องคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25
กรณีนี้ นายพิษณุ หรือพิศณุ นายสังวรณ์ และนายนิพนธ์ อ้างว่า กรมควบคุมมลพิษ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด่วนแยกฟ้องพวกตนทั้ง 3 เป็นคดีฉ้อโกงไปก่อน โดยไม่รอผลการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนว่า พวกตนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษหรือไม่ และมิได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้การกระทำความผิดที่เอกชนกระทำต่อหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินคดีผ่านทางพนักงานอัยการ ทำให้พวกตนต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง และอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในการกระทำความผิดฐานทุจริตได้ การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลัก ne bis in idem หรือ ‘หลักการไม่ถูกดำเนินคดีหลายครั้ง’ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 รองรับไว้
ข้อเท็จจริงกรณีนี้ กรมควบคุมมลพิษ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ฟ้องนายพิษณุ หรือพิศณุ นายสังวรณ์ และนายนิพนธ์ ในข้อหาฉ้อโกงต่อศาลแขวงดุสิตเป็นคดีต่างหาก ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐกรมควบคุมมลพิษนั้น ภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ได้ส่งเรื่องให้อัยการเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้วินิจฉัยถึงนายพิษณุ หรือนายพิศณุ นายสังวรณ์ และนายนิพนธ์ ว่าได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในการกระทำความผิดด้วยในฐานทุจริต
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีที่กรมควบคุมมลพิษ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟ้องนายพิษณุ หรือพิศณุ นายสังวรณ์ และนายนิพนธ์ ดังกล่าวต่อศาลแขวงดุสิตนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2563 มาตรา 47 (4) ประกอบมาตรา 46 วรรคสาม กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้อีกต่อไป ทั้งการพิจารณาคดีก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 51 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี
อ่านประกอบ : ศาลฎีกาสั่งจำคุก 'วัฒนา' คดีคลองด่าน ผู้บริหารบ.เอกชนโดนด้วยคนละ 3-6 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/