ครม.ไฟเขียวขยายเป้าหมายการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รายละ 5 พันบาท นาน 3 เดือน เป็น 9 ล้านคน ดันงบชดเชยเพิ่มเป็น 1.35 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 เกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1.มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยให้ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากเดิม 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที กระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ไปพลางก่อน
สำหรับในเดือนต่อๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอครม.พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ครม.พิจารณาต่อไป
กระทรวงการคลังรายงานว่า การเพิ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้เป็น 9 ล้านคนดังกล่าว เนื่องจากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มี.ค.ถึงวันจันทร์ที่ 30 มี.ค.2563 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ 18.8 ล้านคน จึงได้มีการประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้
อีกทั้งตามมาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ....จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานฯอีก 70,676 คน
2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยครม.อนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับชดเชยต้นทุนการดำเนินงานในโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 1,600 ล้านบาท แบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และธ.ก.ส.ไม่เกิน 800 ล้านบาท โดยให้จัดสรรจากงบประมาณปี 2564
อ่านประกอบ :
ธปท.ชี้มาตรการเยียวยาโควิดเฟสใหม่ 4 แสนล. พยุงจีดีพี 2-3%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/