ธปท.ประเมินมาตการเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 เม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาท จะช่วยพยุงจีพีดีปีนี้ได้ 2-3% และทำให้เศรษฐกิจปีนี้ติดลบน้อยกว่า 5.3% ยันระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งพอรับมือหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ จับตาแรงงานขาดรายได้หลังรัฐสั่งปิดสถานประกอบการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาทนั้น จะช่วยบรรเทาความเสียหายของเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้คิดเป็น 2-3% ของจีดีพี แต่ยังต้องติดตามว่ามาตรการในเฟสใหม่ดังกล่าวจะมีอะไรบ้าง และหากออกมาได้จริงจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ติดลบไม่ถึง 5.3% ตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้
“รองนายกฯสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ได้แย้มออกมาแล้วว่า จะมีมาตรการเฟสถัดมา ซึ่งจะใหญ่กว่า 2 เฟสแรกอีก โดยจะต้องติดตามว่ามาตรการที่ออกมาจะใหญ่ขนาดไหน และถ้าเป็นไปตามข่าว คือ มีเม็ดเงินมากกว่ามาตรการเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 รวมกัน ซึ่งหากมีเม็ดเงินใหญ่กว่าหรือเท่ากับ 4 แสนล้านบาท จะคิดเป็น 2-3% ของจีดีพีเลยทีเดียว แต่ต้องดูว่าจะมีอะไรออกมาบ้าง ถ้าออกมาจริงก็จะช่วยลดการย่อตัวของจีดีพีปีนี้ได้เยอะทีเดียว” นายดอนกล่าว
นายดอน ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5.3% โดยมีปัจจัยหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป และการส่งออกที่ติดลบ โดยตัวเลขจีดีพีของไทยจะติดลบต่อเนื่องทุกไตรมาส และหดตัวลึกสุดไตรมาส 2 เนื่องจากจะเป็นไตรมาสที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการที่เข้มข้นของภาครัฐ จากนั้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ตัวเลขจีดีพีจะหดตัวน้อยลง
“สมมติฐานของเรา คือ สถานการณ์ไวรัสควบคุมได้ไตรมาส 2 เพราะฉะนั้นไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวจะค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้ว่าไทยจะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่สถานการณ์ข้างนอก ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ จึงกระทบการเดินทางทั้งปีนี้ แต่ในปีหน้าเราค่อนข้างเชื่อมั่นว่า นักท่องเที่ยวจะต้องเป็นบวก และปีหน้าก็มีโอกาสที่จะค้นพบวัคซีน เราจึงคงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้า”นายดอนกล่าว
ส่วนการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 3 ล้านคน รายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือนนั้น ผลจากมาตรการนี้ได้ถูกรวมไว้ในการประเมินเศรษฐกิจของธปท.เมื่อวันที่ 25 มี.ค.แล้ว แต่ยังไม่รวมมาตรการที่ ธปท.ให้สถาบันการเงินพักหนี้ให้กับลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 มาตรการคงชดเชยการย่อตัวของจีดีพีได้ไม่มากนัก และหากมีผู้ที่ได้เงินเยียวยาเกิน 3 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีผู้ลงทะเบียน 20 ล้านคน ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจะมากกว่าที่ประเมินไว้
นายดอน กล่าวถึงกรณีเงินทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ว่า ธปท.ไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะสถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่ง ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้รายได้ของเกษตรกรในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แม้ว่าอุปสงค์ในต่างประเทศจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะทุกประเทศต่างบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยก็ตาม
สำหรับแนวโน้มอัตราว่างของไทย ณ สิ้นปีนี้นั้น นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขอัตราว่างงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขของสำนักงบประกันสังคม และข่าวคราวที่ออกมาในสื่อออนไลน์ พบว่าจำนวนผู้ว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สำหรับไทยจะไม่เห็นการอัตราว่างงานที่โตแบบก้าวกระโดดเหมือนสหรัฐ เพราะโครงสร้างตลาดแรงงานไทยไม่เหมือนกับสหรัฐ
“ของเรา (ไทย) ถ้ามีงานทำ 1 ชั่วโมง ก็นับว่ามีงานทำ ต่างจากสหรัฐที่อัตราว่างงานจะกระโดดจาก 3% เป็น 5-6% ได้ในเวลาเดือนเดียว แต่ที่ธปท.กำลังติดตามไม่ใช่ตัวเลขอัตราว่างงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายได้ของแรงงานที่หายไปด้วย เพราะแม้แรงงานบางส่วนจะมีงานทำอยู่ แต่ช่วงที่ปิดกิจการ รายได้เขาลดลง หรือไม่มีรายได้เต็มที่ ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ถือว่าช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมเข้าอีก” นายดอนกล่าว
นายดอน ย้ำว่า ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินของไทยมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อปี 2540 มาก โดยสถาบันการเงินของไทยมีเงินสำรองและเงินกองทุนค่อนข้างสูง จึงสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียได้พอสมควร ส่วนการที่ธปท.เข้าไปดูแลสภาพคล่องให้กับกองทุนรวม (Mutual Fund) นั้น แม้ว่าจะมีการใช้สภาพคล่องค่อนข้างมาก แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากสภาพคล่องที่นำไปช่วยเหลือนั้นเป็นสภาพคล่องในรูปเงินบาท
นายดอน ยังแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.พ.2563 ว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของไวรัว COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ 42.8% โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวรุนแรง เนื่องจากทางการจีนประกาศใช้มาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ และห้ามธุรกิจท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์เดินทางออกนอกประเทศ
นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของจีน โดยมูลค่าส่งออกเดือนก.พ.ขยายตัว 3.6% แต่หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกจะหดตัว 1.3% เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังคงชะลอตัว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 และมีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
“มาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนลดลงมาก ทั้งการบริโภคในประเทศ การผลิต และการขนส่งสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนหดตัวสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลไม้ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ รวมทั้งการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปฮ่องกงที่คำสั่งซื้อลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขยายตัวได้ เนื่องจากได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า” นายดอนกล่าว
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.พ. ลดลงจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับจากภาคการท่องเที่ยวจะลดลง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/