ศูนย์โควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ 143 ราย สะสม 1,388 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ประวัติเชื่อมโยงสนามมวย มีบุคลากรทางการแพทย์ติดด้วย 8 ราย 6 รายติดจากผู้ป่วย ขณะที่ทั่วโลก สหรัฐฯ พบมากที่สุดหลักเเสน 'นพ.ทวีศิลป์' ขอปชช.ตรวจสอบเว็บไซต์ลงทะเบียนรับ 5 พัน เน้นย้ำต้อง www.เราไม่ทิ้งกัน.com หลังพบมีชื่อคล้ายกัน 44 เว็บ กลัวข้อมูลส่วนตัวหลุด ด้าน 3 จว.ชายเเดนใต้ ออกมาตรการห้ามเข้าออกข้ามพื้นที่-ชุมชน พบระบาดสูง
วันที่ 29 มี.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเเพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ว่าปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 645,158 ราย เพิ่มขึ้นจากเดิม 67,498 ราย ซึ่งจะเห็นว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เพราะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกิน 50,000 ราย /วัน โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก เพิ่มขึ้น 4,365 ราย รวมผู้ป่วยหนักสะสม 24,718 ราย ขณะที่ผู้รักษาหายเเล้ว 139,550 ราย เสียชีวิต 29,951 ราย ทั้งนี้ หากจำเเนกเเต่ละประเทศ พบว่า
สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด 116,050 ราย เเละเป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่สูงที่สุดในโลก 21,625 ราย เสียชีวิต 1,937 ราย อิตาลี มีผู้ป่วยยืนยัน 92,472 ราย ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 5,974 ราย เสียชีวิต 10,023 ราย จีน มีผู้ป่วยยืนยันคงที่ 81,394 ราย ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 54 ราย เสียชีวิต 3,295 ราย สเปน มีผู้ป่วยยืนยัน 72,448 ราย ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 8,189 ราย เสียชีวิต 5,812 ราย เยอรมัน มีผู้ป่วยยืนยัน 56,202 ราย ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 6,858 ราย เสียชีวิต 403 ราย อิหร่าน มีผู้ป่วยยืนยัน 35,408 ราย ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 3,076 ราย เสียชีวิต 2,517 ราย (ดูตารางประกอบ)
ส่วนประเทศไทย นายเเพทย์ทวีศิลป์ ระบุอยู่ในอันดับ 34 (จากการจัดอันดับเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2563) เเละวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้น 143 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,388 ราย (คนไทย 1,172 ราย ไม่ใช่คนไทย 216 ราย) โดยสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีอาการ ร้อยละ 81.6% มีอาการ ร้อยละ 18.4 ดังนั้น จะต้องตรวจหาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการติดเชื้อไวรัสฯ ให้เจอ เเละเมื่อเเยกตามรายภาพ พบว่า กรุงเทพฯ สูงสุด 641 ราย ภาคใต้ 82 ราย ปริมณฑล 135 ราย เเละภาคอื่น ๆ 530 ราย เเละมีอาการรุนเเรง เสียชีวิต เพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยชาย อายุ 68 ปี จ.นนทบุรี มีประวัติเชื่อมโยงไปในสนามมวย ทำให้ผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย
โฆษก ศบค. กล่าวว่า เเนวโน้มผู้ป่วยสะสมที่เพิ่มขึ้น เเม้จะมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เเน่นอนว่า การติดเชื้อไวรัสฯ ต้องใช้ระยะเวลา 5-7 วัน มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ที่มีความเข้มข้น โดยใช้ตัวเลขสถานการณ์ในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่า การประกาศ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น เเละทุกคนให้ความร่วมมือจะส่งผลหลังจากประกาศไปเเล้ว 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ต้องให้ความร่วมมือนั้น คือ ประชาชนอายุ 20-29 ปี 30-39 ปี 40-49 ปี เเละ 50-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานเเละร้อยละ 80 เป็นพาหะนำโรคที่ไม่เเสดงอาการหรือเเสดงอาการน้อยมาก
นายเเพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อเปิดลงทะเบียนให้รับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) ตั้งเเต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้ลงทะเบียนเเล้ว 20 ล้านคน ทำให้ระบบไม่สามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ทีมงานของกระทรวงการคลังได้ช่วยเหลือระดมกำลังจากทุกหน่วยงานเข้ามาเเก้ไขจนสามารถกู้ระบบกลับมาได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทำให้สามารถลงทะเบียนได้เกือบ 12 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการตั้งชื่อเว็บไซต์เลียนเเบบ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จำนวน 44 เว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้น ทำให้มีการกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนเเละข้อมูลส่วนตัวในการลงทะเบียน หลุดออกไปสู่บุคคลเหล่านี้ ถือว่าเป็นเจตนาไม่ดี ขอให้ประชาชนตรวจสอบให้ดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีเวลาปิดการลงทะเบียนเเละได้รับเงินภายใน 7 วัน
โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมเเละสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยรายงานมาตรการในเเต่ละพื้นที่เป็นรายวัน อย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายเเดนภาคใต้ ได้เเก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ยังมีประกาศเพิ่มเติมห้ามเดินทางเข้าออกในพื้นที่ ดังนี้ 1.ห้ามเดินทางเข้าออก ห้ามข้ามเขตพื้นที่ ทั้งจังหวัด 2.ห้ามเดินทางเข้าออกในพื้นที่บางหมู่บ้าน บางชุมชน ที่มีการเเพร่ระบาดสูง ยกเว้น กรณีที่ให้เข้าออกได้ คือ ต้องการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ใครฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 143 ราย โดยสัดส่วนยังพบในพื้นที่กทม.มากที่สุด ทั้งนี้ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้รวม 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย โดยติดจากผู้ป่วย 6 ราย ติดจากแหล่งอื่น 1 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสอบสวน ถามว่าเป็นสัดส่วนมากหรือยัง ส่วนตัวไม่อยากให้มีบุคลากรติดแม้แต่คนเดียว เพราะต้องดูแลผู้ป่วยอีกเยอะ ดังนั้นนอกจากการป้องกันตัวระหว่างปฏิบัติงานแล้วขอให้ระมัดระวังเมื่อนอกรพ.ด้วย, และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย สรุปวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 111 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิต 7 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย นั้นเป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่รพ.พระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค. ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย โดย 50% เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว อย่างไรก็ตาม ใน 17 รายนี้ มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด (ECMO) อาการอยู่ในภาวะวิกฤต
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กราฟผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นในแนวเส้นตรง พบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุ 20-59 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เจอน้อยแต่มีความสำคัญ เพราะเสี่ยงที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในไทยตอนนี้มี 59 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะการดำเนินมาตรการควบคุมโรคจึงต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 1.กทม.มีผู้ป่วยมาก ต้องมีมาตรการอย่างเข้มข้นเรื่องค้นหาผู้ป่วย และคนสัมผัสให้เร็วและเว้นระยะห่างทางสังคม
2.กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก เช่น สุรินทร์ อุดรธานี กาญจนบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา จะต้องดำเนินมาตรการเช่นเดียวกับกทม. 3. กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยไม่มาก 1-3 คน ต้องตะครุบผู้ป่วย ตามผู้สัมผัสให้เร็ว และเฝ้าระวังคนที่มาจากต่างพื้นที่ให้เร็วด้วย และ 4. กลุ่มจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย ต้องจับตาคนที่เดินทางจากต่างพื้นที่ให้เร็ว และให้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ทั้งนี้การมีจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยจำนวนมากจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคของจังหวัดใกล้เคียงด้วย สำหรับเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอนั้น ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม เพราะทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และตนพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าหากสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆ อย่างจะค่อยๆ ขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตทั้งในโลกเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ ไม่ได้ทำไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage