ธปท.ออกเกณฑ์ขั้นต่ำช่วยเหลือลูกหนี้ 6 ประเภท ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้สถาบันการเงินลดอัตราจ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือ 5% นาน 2 ปี พักชำระเงินต้น 'สินเชื่อบ้าน-สินเชื่อธุรกิจ SMEs-ไมโครไฟแนนซ์-นาโนไฟแนนซ์ ' ให้ลูกหนี้นาน 3 เดือน ลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม พร้อมเปิดทางเจ้าหนี้พิจารณาเลื่อนชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 'สินเชื่อเช่าซื้อ-จำนำทะเบียนรถ' ให้ลูกหนี้นาน 3 เดือน หรือเลือกพักเฉพาะหนี้เงินต้นนาน 6 เดือน ก็ได้ ส่วน 'สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ-สินเชื่อส่วนบุคคล' ให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนเวลาจ่ายหนี้้เงินต้น-ดอกเบี้ยได้นาน 3 เดือน
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคมแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ให้ความสำคัญในการให้สถาบันการเงินดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไได้รับผลกระทบจาการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกแนวปฏิบัติให้กับสถาบันการเงินในการดูแลลูกหนี้ มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ 3 หมื่นราย วงเงิน 2.34 แสนล้านบาท และปัจจุบันลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเป็น 1.56 แสนราย วงเงิน 3.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการขยายวงกว้างมากขึ้นในหลายพื้นที่และหลายอุตสาหกรรม ธปท.จึงได้หารือกับผู้เกี่ยวข้อง 9 สมาคม/ชมรมที่เกี่ยวข้อง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้น และการยืดหนี้ออกไป เป็นต้น โดยจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 6 ประเภท และให้มีผลตั้งแต่งวดการชำระเงินในวันที่ 1 เม.ย.2563 เป็นต้นไป
"การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธปท.ได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารต่างชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานที่ธปท.ไม่ได้กำกับโดยตรง เช่น สมาคมลีสซิ่งไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อ และสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อต่างๆ ชมรมบัตรเครดิต ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ก็มีความเห็นตรงกันว่า เราควรมีมาตรฐานกลางที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL โดยเริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป" นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ย้ำว่า การมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำดังกล่าว จะช่วยลดภาระให้กับประชาชน และทำให้ประชาชนไม่ต้องพะวักพะวงหรือกังวลกับการชำระหนี้ค่างวดที่จะครบกำหนดตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 เป็นต้นไป ขณะที่มาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ โดยสถานะของลูกหนี้จะยังเป็นสถานะหนี้่ปกติต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น พนักงานบริษัทที่ยังมีเงินเดือนต่อเนื่อง มีรายได้ประจำ ก็ควรชำระหนี้ตามปดติ ซึ่งสถาบันการเงินจะมีเงื่อนไขพิเศษเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติด้วย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเภทสินเชื่อที่จะมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ประกอบด้วย 6 ประเภทสินเชื่อ ได้แก่
1.สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสด (revolving loan) โดยให้สถาบันการเงินทุกแห่งลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 2563 และปี 2564 ก่อนจะเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% ในปี 2565 และเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 10% เท่าเดิม ในปี 2566 นอกจากนี้ ลูกกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยต่ำลงต่ำลงจากปัจจุบันที่อยู่ที่อัตรา 18% ต่อปี
2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) จะเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่างได้ 2 แนวทาง คือ 1.เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 2.ลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6 เดือน
3.สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) คือ (1) รถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และ (2) รถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการได้ 2 เลือก คือ 1.เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 2.พักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน
4.ลีสซิ่ง (Leasing) ที่มีมูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท เช่น ลิสซิ่งเครื่องจักร โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการได้ 2 เลือก คือ 1.เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 2.พักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน
5.สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้นทันที 3 เดือน และสถาบันการเงินพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย เนื่องจากลูกหนี้แต่ละรายได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่เหมือนกัน
6.สินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้นทันที 3 เดือน และสถาบันการเงินพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย
"มาตรการช่วยเหลือลูกนี้อันนี้เป็นแค่ขั้นต่ำ และเวลาหนี้สถาบันการเงินหลายแห่งได้มีมาตรการพิเศษในการเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่ามาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำเหล่านี้ เช่น การปลอดดอกเบี้ย ปลอดหนี้ และยืดเวลาการชำระหนี้ ส่วนลูกหนี้มีการชำระปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งไม่ต้องการได้รับความช่วยเหลือตรงนี้ ก็ได้ขอให้สถาบันการเงินให้เงื่อนไขพิเศษตามความเหมาะสม ดังนั้น ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามปกติก็จะมีแนวทางและเงื่อนไขพิเศษให้ โดยทั้งหมดนี้ให้มีผลทันทีในวันที่ 1 เม.ย.2563 ซึ่งลูกหนี้สามารถสอบถามรายละเอียดจากสถาบันการเงินต่างๆได้" นายรณดลกล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage