สธ.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 107 ราย สะสมเเล้ว 934 ราย มากสุดยังมาจากกลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วย-เกี่ยวข้องกับสถานที่พบก่อนหน้านี้ 'นพ.ทวีศิลป์' ระบุมีเเพทย์ 2 ราย-ผู้ต้องขัง เผยสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากจีน-ญี่ปุ่น 200,000 เม็ดได้รับต้น เม.ย. เชื่อมั่นเพียงพอรักษาอาการหนัก
วันที่ 25 มี.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 เปิดเผยถึงสถานการณ์ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้น 107 ราย (ลำดับที่ 828-934) จำเเนกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
-กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 27 ราย เเบ่งเป็น จากสนามมวย จำนวน 4 ราย ( พนักงานขับรถ บขส. รับจ้าง จาก กทม. เเละสมุทรสาคร)
สถานบันเทิง จำนวน 5 ราย (นักท่องเที่ยวในสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี ประชาสัมพันธ์ เเละเจ้าของสถานบันเทิง)
ผู้ป่วยที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาเเล้ว จำนวน 14 ราย (รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท นักศึกษา คนขับรถเเท็กซี่ ผู้ต้องขัง ตำรวจ จาก จ.เพชรบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต เเละกทม.)
ร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย จำนวน 4 ราย จาก จ.สงขลาเเละยะลา
-กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 13 ราย เเบ่งเป็น เดินทางจากต่างประเทศ ทั้งชาวไทยเเละชาวต่างชาติ (อังกฤษ ฟินเเลนด์ เยอรมัน อเมริกัน) จำนวน 6 ราย
ทำงานหรืออาศัยในสถานที่เเออัดหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ จำนวน 5 ราย (พนักงานบริษัท พนักงานร้านนวด เเคชเชียร์ เเละเจ้าหน้าที่สนามบิน)
เเพทย์ จำนวน 2 ราย โดยเป็นเเพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ทำงานในโรงพยาบาล มีอาการเล็กน้อยเเละยังคงทำงานอยู่ เข้าทั้งผ่าตัดเเละทานข้าวกับเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ หลังจากผลการสืบสวน พบมีผู้สัมผัสร่วมด้วย เป็นบุคลากรทางการเเพทย์อยู่ในห้องผ่าตัด จำนวน 15 คน เเละเเพทย์ร่วมทำงานเเละใกล้ชิด จำนวน 10 คน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องจำนวน 25 คน ต้องถูกพักงานเเละรับการดูเเลที่บ้าน
-กลุ่มที่ 3 ได้รับผลเเล็ปยืนยันพบเชื้อ เเต่ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนโรค รอประวัติ จำนวน 67 ราย
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ เเละต้องรับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
"สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านได้เเล้ว 70 ราย รักษาในโรงพยาบาล 860 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยสะสม 934 ราย"
นายเเพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการเเพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจะมีมาตรการอย่างไรทำให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการเเพทย์ ไม่เฉพาะเเพทย์เท่านั้น รวมถึงพนักงานเข็นเปล ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดต้องใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งยืนยันหน้ากากอนามัยทางการเเพทย์ต้องมีเพียงพอ เเละจากการบริหารจัดการ ได้ให้รายละเอียดจะต้องระบุว่า ผู้ใดบ้างต้องได้ใช้ เเม้กระทั่งพนักงานเข็นเปลที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก
อย่างไรก็ตาม มีการพูดคุยกันเรื่องหน้ากาก N95 เเละชุดปกป้องร่างกาย ซึ่งเราต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้เพียงพอ โดยอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า จะจัดซื้อ รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีการคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วย จำนวน 5,000 ราย จะต้องใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยหนัก 350,000 เม็ด เวลานี้มีสต๊อกเกือบ 50,000 เม็ด เเละมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเเละญี่ปุ่น ซึ่งประมาณต้น เม.ย. จะได้รับ 200,000 เม็ด เชื่อว่าจะเพียงพอในการใช้ในช่วงนี้
นายเเพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เเละปริมณฑล เดินทางกลับไปภูมิลำเนา จะมีโอกาสนำโรคเเพร่กระจายให้คนใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้นายเเพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเเละอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา ให้คำเเนะนำปฏิบัติตัว เเยกตนเอง อยู่บ้าน 14 วัน เเละประชาสัมพันธ์มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร เเละสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า สำหรับคนไม่เจ็บป่วย
"กลุ่มคนที่ยังมีงานเลี้ยงสังสรรค์ พบปะกัน เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนหลักร้อยราย เพราะฉะนั้นต้องงดการรวมกลุ่ม สังสรรค์ กิจกรรมต่าง ๆ หากพบผู้ป่วยให้เเจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เเละเด็กเล็ก" นายเเพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/