นักวิชาการวารสารศาสตร์ มธ. เเนะรัฐใช้วิธีสื่อสารตรงกันเเบบ "One Team One Voice" ช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่ควรมีมากกว่า 1 เเหล่ง ให้เน้นสื่อสารผ่านประกาศ เเจก Press Release มากกว่าผ่านบุคคล หวั่นน้ำเสียง ท่าทาง ก่อให้เข้าใจความหมายผิด
กรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์การสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ดังเช่นกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ผู้บริหารสถานการณ์วิกฤตคือ “ผู้บัญชาการ” หรือ Commander จะต้องนำทีมทั้งในด้านการบริหารจัดการสถานการณ์และการสื่อสาร โดยในด้านการสื่อสารนั้น ทีมบริหารจะต้องมีการจัดการที่มีแผนงานรัดกุม รวบรวมข้อมูลทุก ๆ อย่างเข้ามาในศูนย์บัญชาการกลางแห่งนี้ และสื่อสารสู่สังคมตามช่องทางที่มีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญต้องเป็น “ One Team One Voice” สื่อสารตรงกัน ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ควรมีแหล่งสื่อสารมากกว่า 1 แหล่ง เพื่อเกิด Single Message ข้อมูลข่าวสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะประชาชนและสื่อมวลชน จะได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน เพิ่มความเชื่อมั่น ลดความสับสน ที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องข่าวลวงข่าวปลอมหรือ Fake News ของผู้ที่เจตนาสร้างข่าวลวง รวมทั้งลดการสื่อสารคลาดเคลื่อน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจของสื่อและประชาชนได้ด้วย
“ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารภาวะวิกฤต ซึ่งทำได้หากมีระบบการสื่อสารที่ดี ชัดเจน มีประสิทธิภาพ การสื่อสารผ่านการประกาศทางการ มีตราของรัฐหรือทางการ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนทราบว่าเป็นข้อมูลที่จริง ถูกต้อง มีการกลั่นกรองมาแล้ว ในความสับสนวิกฤต สิ่งที่สังคมต้องการคือข่าว ทุกคนต้องการรู้ข่าวสารเพื่อจะได้ทำตัวให้ถูกต้อง ลดความกังวล และการมีศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองจุดนี้ได้ จะมีความสำคัญที่สุด ทุกคนต้องพึ่งพิงข่าวสารจากแหล่งนี้เป็นหลัก ความเป็นหนึ่งเดียวของข่าวสารก็จะเกิดขึ้น และการบริหารสถานการณ์ก็จะง่ายขึ้น แต่ขอย้ำว่า ข้อมูลต้องถูกต้อง ตรวจสอบแล้ว เป็นหนึ่งเดียวกัน และเน้นประโยชน์ของประชาชน หรือสมาชิกในสังคมนั้นเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ กล่าว
คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวต่อถึงวิธีการสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านสื่อบุคคลของศูนย์กลางบริหารสถานการณ์วิกฤต จะมีปัจจัยของท่าทาง ลักษณะน้ำเสียง และปัจจัยอื่น ๆ ที่ยากต่อการควบคุม อาจก่อให้เกิดการจับประเด็นและการให้ความหมายที่ผิดไปจากเจตนาเดิม การสื่อสารด้วยการเขียนเป็นเอกสารหรือการสื่อสารผ่านสื่อขององค์กรเองหรือที่เรียกว่า Owned Media เช่น การประกาศ การแจกข่าวประชาสัมพันธ์ แบบ Press Release รวมทั้งการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ผ่านด้วยการถ่ายทอดสด Live ผ่านสื่อออนไลน์ถึงประชาชนและผู้สื่อข่าวขององค์กรสื่อโดยตรง เป็นสิ่งที่แนะนำ เพราะจะทำให้การถ่ายทอดสารออกไปมีความถูกต้อง ไม่บิดเบือนประเด็นในสารนั้น ทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจอันเป็นปัญหาจากข้อจำกัดในด้านการสื่อสารของมนุษย์
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ INN
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/