'จุรินทร์' แถลงจับอีก 2 คดี ขายหน้ากากอนามัยแพง รายแรก 'ร้านช้าง' โพสต์ขายออนไลน์กล่องละพัน เว็บ Shopee โดนด้วย รายสองเป็นโรงงานย่านสะแกงาม ชื่อ National Cotton Product ผลิตยี่ห้อ Health Mask อย.ยังไม่รับรอง ส่วนกรณีอิศรา ตรวจสอบพบพ่อค้าฟิลิปปินส์พรีออเดอร์หน้ากาก Thaihealth จากไทยนับแสนกล่อง รองปลัดพาณิชย์ฯ ขอรับเรื่องไปตรวจสอบก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เแถลงข่าวผลการดำเนินการการจับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยราคาแพง ว่า กระทรวงพาณิย์ได้สั่งดำเนินคดีร้านค้าที่ชื่อว่า “ช้าง” ที่ขายหน้ากากอนามัยผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Shopee โดยหน้ากากอนามัยที่ร้านช้างนำมาจำหน่าย คือ หน้ากากตรา Welcare ราคากล่องละ 1,050 บาท มีจำนวน 50 ชิ้น ราคาตกชิ้นละประมาณ 21 บาท ค่าส่งอีก 80 บาท รวมเป็น 1,130 บาท สำหรับข้อหา ร้านช้าง คือ ขายเกินราคาที่กำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และค้ากำไรเกินควร โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"หลังจากนี้เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในจะไปแจ้งความตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคหรือ ปคบ.เพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป โดยจะแจ้งความจับทั้งผู้บริหารร้านช้างและกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ดูแลเว็บไซต์ Shoppee ประเทศไทยด้วย"
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า "หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้สั่งดำเนินคดีเว็บไซต์ Lazada ไปแล้วดูเหมือนว่าการขายหน้ากากอนามัยในเว็บดังกล่าวจะหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใครพบการกระทำการในลักษณะการค้ากำไรเกินควรอีก ก็ขอให้แจ้งมายังหมายเลข 1569 เพื่อจะได้ดำเนินคดีต่อไป และหลังจากนี้คงต้องขอเตือนแพลตฟอร์มต่างๆในประเด็นเรื่องการขายหน้ากากเกินราคา ถือว่าผิดกฎหมาย และยังรวมไปถึงกรณีที่แม้จะขายหน้ากากอนามัยไม่เกินราคาต่อชิ้นที่ 2.50 บาท แต่กลับไปคิดค่าบริการแฝงเช่นค่าขนส่ง 200 -500 บาท กรณีอย่างนี้ก็เข้าข่ายว่าจะผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะมาตรการควบคุมราคาสินค้านั้นจะรวมไปทั้งตัวสินค้าและค่าบริการคือค่าขนส่งด้วย ส่วนแพลตฟอร์มที่ยังหลงเหลืออยู่ คงต้องมีการดำเนินการกันตามกฎหมายต่อไป"
นายจุรินทร์ ยังกล่าวย้ำว่า หน้ากากอนามัยผ้านั้นสามารถจำหน่ายออนไลน์ได้ และไม่มีการควบคุมราคาแต่อย่างใด โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนนำหน้ากากผ้ามาใช้งาน เพราะต้องการให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยจริงๆ มีโอกาสเข้าถึงหน้ากากอนามัยก่อน
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากแห่งหนึ่งชื่อ National Cotton Product ที่ย่านสะแกงาม เขตบางขุนเทียน กรุมเทพมหานคร เป็นโรงงานที่ผลิตหน้ากากยี่ห้อ Health Mask ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโรงงานแห่งนี้ผลิตหน้ากากให้บริษัทที่ชื่อว่า Specialty Tec Corporation ซึ่งผลจากการตรวจพบว่าโรงงานแห่งนี้ผลิตหน้ากากทางเลือก ไม่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหน้ากากแบบไหนก็จะต้องมีการรายงานให้กับกรมการค้าภายในซึ่งเป็นเลขานุการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ให้ได้รับทราบ จึงต้องดำเนินการกับโรงงานแห่งนี้ในข้อหาไม่แจ้งข้อมูลการผลิต สต็อกและต้นทุนให้กรมการค้าภายในรับทราบ ซึ่งมีโทษปรับจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และถ้าตรวจสอบต้นทุนแล้วพบว่ามีการค้ากำไรเกินควร และขายเกินราคาก็จะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเช่นกัน เพราะราคาขายนั้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของต้นทุน
ส่วนกรณีที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวฟิลิปปินส์ประกาศรับขายหน้ากากอนามัยยี่ห้อ Thaihealth ที่ระบุในเว็บว่ามาจากประเทศไทยเป็นจำนวนนับแสนกล่อง (อ่านประกอบ:พบหน้ากาก Thaihealth โผล่ขายฟิลิปปินส์นับแสนกล่อง พ่อค้าออนไลน์ระบุสินค้ามาจากไทย)
นายสุชาติ สินรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการค้าภายในประเทศ ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า ย้ำว่าในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการขายกัน เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและทำการทดลองซื้อด้วยก็พบว่าส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ของกัน และก็มีแพลตฟอร์มซึ่งปิดไปแล้วด้วย ส่วนเรื่องที่ประเทศฟิลิปปินส์มีการประกาศพรีออเดอร์หน้ากากอนามัยจากประเทศไทยนั้น จะขอรับเรื่องนี้ไปตรวจสอบรายละเอียดก่อน
ขณะที่นายจุรินทร์ ได้กล่าวเสริมขึ้นมาว่าประเด็นเหล่านี้นั้นจะต้องตรวจสอบด้วยว่าประกาศขายเมื่อไร เป็นหน้ากากชนิดไหน ลักลอบส่งออกหรือขออนุญาตส่งออก แต่ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะส่งออกหน้ากากอนามัยที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้แต่อย่างใด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage