‘นายกสมาคมส่งออกข้าว’ เผยต่างชาติแห่ตุนซื้อข้าวไทย รับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ดันราคาข้าวขาวพุ่งตันละ 50 ดอลลาร์ ขณะที่ ‘กรมการค้าภายใน’ เร่งผลักดันการพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม รองรับความต้องการของผู้บริโภคต่างประเทศ
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสหรัฐ แคนาดา และยุโรป เนื่องจากมีความตื่นตระหนกเรื่องไวรัสโควิด-19 จึงได้สั่งซื้อข้าวเข้าไปตุนเอาไว้ก่อน เพราะเกรงว่าจะเกิดการขาดแคลน
“ตอนนี้สหรัฐ แคนาดา และยุโรป มีการตื่นเรื่องโควิด-19 และอย่างที่เห็นมีการกักตุนสินค้ากัน จึงมีการสั่งซื้อข้าวมากขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ คือ ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว ทำให้การส่งออกข้าวช่วงนี้ค่อนข้างคึกคักหน่อย” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีคำสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการส่งออกข้าวปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายส่งออกที่ 7.5 ล้านตันหรือไม่ เพราะคำสั่งซื้อข้าวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการสั่งซื้อข้าวไปเก็บ และหากในอีก 2 เดือน สถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ คำสั่งซื้อข้าวก็จะลดลง แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะอยู่อีกนานเท่าใด ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวของไทยปีนี้ลดลงมาก
“เดิมเขาซื้อข้าว 1 ถุงเก็บไว้กิน แต่ตอนนี้ซื้อ 3 ถุง เพราะกลัวของขาด และถ้าของไม่ขาด อีก 2 เดือนเขาก็ไม่ซื้อ วอลุ่มจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นในแง่ของจำนวน แต่เป็นการซื้อเอามาเก็บ ซึ่งการซื้อข้าวไปตุนนั้น เริ่มจากฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และขยับไปที่ยุโรป สหรัฐ และแคนาดา แต่ตอนนี้ฮ่องกง สิงคโปร์ เริ่มซาแล้ว เพราะเขาซื้อไปพอแล้ว ก็ไปเริ่มที่สหรัฐ แคนนาดา และยุโรป เพราะการแพร่ของไวรัสเร็วมาก จึงมีการ panic buying ข้าวอะไรเขาก็กวาดหมด” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวไทยนั้น ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า ความต้องการข้าวที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากไวรัสโควิด ประกอบกับผลผลิตข้าวไทยลดลง เนื่องจากไม่มีการปลูกข้าวนาปรัง เพราะไม่มีน้ำ ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิและข้าวขาวของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวขาวราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง โดยเพิ่มขึ้นตันละ 50 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มจากตัน 400 ดอลลาร์สหรัฐเศษ เป็นตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐ
"ไทยไม่มีการปลูกข้าวนาปรัง เพราะไม่มีน้ำ ทำให้ผลผลิตน้อยลงไปมาก เมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น ราคาจึงเพิ่มขึ้นเร็วมาก" ร.ต.ท.เจริญระบุ
ร.ต.ท.เจริญ ยังระบุด้วยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31.5-31.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่อยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะเดิมข้าวไทยมีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งมาก แต่ตอนนี้ช่วงห่างราคาลดลงมา
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ราคา F.O.B อยู่ที่ตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นตันละ 36 ดอลลาร์ จากวันที่ 26 ก.พ. ที่ราคาอยู่ที่ตันละ 455 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นราคาที่แพงกว่าข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ตันละ 403-407 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแพงกว่าตันละ 84 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนข้าวหอมมะลิไทย ปี 2561/62 ราคาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 1,214 ดอลาร์สหรัฐ
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีคำสั่งซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากฮ่องกง และจีน เนื่องจากผู้ซื้อมีการสั่งซื้อข้าวไปเก็บไว้ หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสถูกควบคุมได้ และระบบขนส่งและโลจีสติกส์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ดีกว่าปีแล้วที่ส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน หรือปี 61 ที่ส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน โดยกรมฯยังคงเป้าส่งออกข้าวปีนี้ที่ 7.5 ล้านตัน
นายกีรติ ยังกล่าวว่า หลังจากกรมฯได้สะท้อนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมการปลูกข้าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคต่างประเทศต้องการซื้อข้าวพันธุ์พื้นนุ่นมากขึ้น ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง และเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการพัฒนาและผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ๆที่ตลาดต้องการ ในขณะที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการวางยุทธศาสตร์ข้าวขึ้นมาแล้ว เพื่อผลักดันให้มีการผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ๆออกมา
“คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการวางยุทธศาสตร์ขึ้นมาแล้ว กรมฯจะเสนอว่ามีข้าวพันธุ์อะไรบ้างที่ผู้บริโภคต่างประเทศต้องการ และอยู่ในประเทศไหนบ้าง ซึ่งแม้ว่าการพัฒนาพันธุ์ไปจนถึงขั้นส่งออกจะต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ทุกคนเร่งทำงานกัน เพื่อตอบโจทย์ตรงนี้” นายกีรติกล่าว
อ่านประกอบ :
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/