ป.ป.ช. แพร่ผลคดีชี้มูลความผิด 'จิรภัทร จันทา' อดีตนักโปรแกรมฯ บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด กับพวก 1 ราย จงใจทำให้เครื่องคอมฯ ไม่สามารถใช้งานได้ ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี รวม 228 กระทง ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ กระทงละ 2 ปี 228 กระทง รวมคุก 456 ปี แต่ให้รวมทุกกระทงเหลือ คนละ 20 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ผลความคืบหน้าคดีกล่าวหา นางสาวจิรภัทร จันทา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 6 บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด กับพวก คือ นายรัก รัตนเลิศรทา หรือ นายอุทัย ดำวิสัย จงใจทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และ ความผิดทางอาญาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผดิเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 และ มาตรา 10 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559
ความคืบหน้าล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ว่า นางสาวจิรภัทร จันทา และ นายรัก รัตนเลิศรทา หรือ นายอุทัย ดำวิสัย มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9, 10 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 228 กระทง
ทางนำสืบของจำเลยทั้งสอง มีประโยชน์มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษหนึ่งในสามจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 228 กระทง เป็นจำคุก 456 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงให้จำคุก คนละ 20 ปี
สำหรับพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ระบุว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , มาตรา 10 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบในการที่ อัยการสูงสุดจะไม่ อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/