SCB EIC ลดเป้าจีดีพีปี 63 เป็นหดตัว 0.3% หลังไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว-ส่งออกอย่างหนัก คาดเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวช้าๆปลายไตรมาส 3 หวังภาครัฐใช้มาตรการการเงินการคลัง ‘ผ่อนคลาย’ มากขึ้น
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Centerธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ 1.8% และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด technical recession ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวทั้งในแบบ %YOY และ %QOQ
ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยรุมเร้า ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกของไทยหดตัว ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และการจ้างงานของแรงงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปกติซึ่งกระทบต่อรายได้ของภาคเกษตร และงบประมาณจากภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายได้ต่ำในช่วงไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย
อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่าการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ ทั้งในส่วนของงบลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ จะเริ่มเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป
“EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงปลายไตรมาส 3 ตามสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวในช่วงดังกล่าว ตลอดจนมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น” นายยรรยงระบุ
นอกจากนี้ EIC ประเมินว่า การระบาดของไวรัส COVID-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 27.7 ล้านคน หรือลดลง 30.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในเดือนเม.ย.2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีการหดตัวมากสุดหรือประมาณ 75% เมื่อเทียบกับเม.ย.2562
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาติจะปรับดีขึ้นอย่างช้าๆหลังจากนั้น และเข้ากลับสู่ระดับเทียบเท่าปี 2562 ในเดือนต.ค. ขณะที่รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจะปรับลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ซบเซา
ส่วนการส่งออกปี 2563 แนวโน้มหดตัว 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผลกระทบของ COVID-19 จะทำให้รายได้ของลูกค้าลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลงมาก ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกในหมวดน้ำมันและปิโตรเคมีลดลงตาม และปัญหาด้าน supply chain disruption ที่เกิดจากการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าในประเทศที่ได้รับผลกระทบและไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตด้วย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
“ไวรัส COVID-19 จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ไทยจะส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางบางประเภทลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก สินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีการหยุดชะงักของการผลิตสินค้า จึงลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทย และ 2.ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออกบางประเภท เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศเหล่านั้น” นายยรรยงระบุ
นายยรรยง ยังระบุว่า นอกจากรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะมีแนวโน้มลดลงจากผลของไวรัสแล้ว การใช้จ่ายในประเทศจะได้รับผลกระทบจากความกังวลและตื่นกลัวการแพร่ระบาด ซึ่งนำไปสู่การลดท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงมีการลดหรือเลื่อนกิจกรรมงานสังสรรค์และงานนิทรรศการต่างๆ แม้ตัวเลขการใช้จ่ายผ่านช่องทาง online จะโน้มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายที่ลดลงได้ทั้งหมด
นายยรรยง ระบุว่า EIC มองว่า กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25 bps) ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.มี2563 นี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปี 2563 ที่มีแนวโน้มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี จะทำให้ความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ในระยะข้างหน้าสูงขึ้น
“EIC มองว่า กนง. อาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อประคองเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อของไทยให้กับสู่กรอบเป้าหมายในระยะปานกลาง และแม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะมีผลกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ได้จำกัดภายใต้ความไม่แน่นอนและความกังวลจาก COVID-19 แต่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ลดแรงกดดันด้านเงินบาทแข็งค่า ลดภาระการชำระหนี้และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้” นายยรรยงระบุ
อย่างไรก็ดี จาก policy space ด้านดอกเบี้ยที่มีจำกัด ภาครัฐคงต้องอาศัยความร่วมมือในการใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การผ่อนคลายด้านกฎระเบียบ การดูแลค่าเงินบาท หรือกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงหรือเพิ่มสภาพคล่องเฉพาะจุด เป็นต้น หากมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มระดับความผ่อนคลายของภาวะการเงินในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของ EIC ดังกล่าว อยู่ในกรณีฐาน (Base case scenario) คือ 1.การระบาดของไวรัสในจีนถูกควบคุมได้ (ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ) ในเดือนพ.ค. และการระบาดนอกประเทศจีน (รวมถึงไทย) ถูกควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ และ 2.ในกรณีของไทย ไม่มีการ lockdown ในวงกว้าง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/