ปปง.สั่งอายัดทรัพย์ 74 ล้าน บ. อี แอล ซี กรุ๊ป ของ ‘ภัทริคณ์ เรตะกุล’ กับพวก หลอกขายแพ็กเกจทัวร์ ตปท.ทาง Facebook ทั้ง เงินฝากธนาคาร ที่ดิน ห้องชุด หุ้น อื้อ 73 รายการ พบจดทะเบียนใน จ.น่าน แจ้งไม่มีรายได้หลายปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ ย.17/2563 และ คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.18/2563 วันที่ 21 ก.พ.2563 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป ของนายภัทริคณ์ เรตะกุล กับพวก รวม 73 รายการมูลค่า 74,740,012 บาท
กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หลอกให้ซื้อแพ็กเกจทัวร์เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเป็นแพ็กเกจทัวร์ที่มีราคาถูก ผ่านช่องทางผู้ใช้งานบัญชี Facebook ชื่อ “Patrick Rathakut” ผู้เสียหายได้ทําการจองและสั่งซื้อแพ็กเกจทัวร์กับบริษัท โดยโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝาก ธนาคารของบริษัทเพื่อชําระเงินค่าแพ็กเกจทัวร์
เมื่อถึงกําหนดการเดินทาง ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางได้ โดย ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลหัวหมากให้ดําเนินคดีกับบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด และนายภัทริคณ์ เรตะกุล ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดที่เกี่ยวข้องรวม 3 คดี
ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ถูกอายัด ตามที่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.18/2563 ได้แก่ เงินฝากธนาคาร ที่ดินตามโฉนด ห้องชุด หุ้นในบริษัทต่าง อยู่ในชื่อบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป ,นายภัทริคณ์ เรตะกุล, นางขันทอง ดีพิชัย ,นางพนมพร ดีสีใส ,นายสาธิต วงศ์ชมสิน ,นายสารนาถ สุภา จำนวน 58 รายการ มูลค่า 44,669,854.75 บาท
ทรัพย์สินที่ถูกอายัด ตามคำสั่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ ย.17/2563 เพิ่มเติม ประกอบด้วย เงินฝาก,หุ้นในบริษัทต่างๆ อยู่ในชื่อของนายสาธิต วงศ์ชมสิน จำนวน 15 รายการมูลค่า 30,070,157.25 บาท
คำสั่งในการอายัทรัพย์ของ ปปง.ระบุว่า
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจาก กองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.21 (3)/2841 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2561 ต่อเนื่องถึงประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 นายจตุภูมิ บงกชประภา และผู้เสียหายรายอื่น ๆ ได้รับการชักชวนจากบุคคลซึ่งเป็นลูกค้าเดิมของบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด (ELC GROUP CO., LTD.) ซึ่งมีนายภัทริคณ์ เรตะกุล เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท ให้ซื้อแพ็กเกจทัวร์เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเป็นแพ็กเกจทัวร์ที่มีราคาถูก แต่บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด ไม่ได้ใช้ชื่อบริษัท ในการประกาศขายแพ็กเกจทัวร์โดยตรง แต่ผู้ที่สนใจจะซื้อแพ็กเกจทัวร์ จะต้องขอ เป็นเพื่อนกับผู้ใช้งานบัญชี Facebook ชื่อ “Patrick Rathakut” เสียก่อน เมื่อรับเป็นเพื่อนแล้ว ก็จะเห็น แบนเนอร์โฆษณาขายทัวร์ ที่ลงโฆษณาไว้ในบัญชี Facebook ดังกล่าว เชื่อว่าเป็นการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ ทําให้สามารถมองเห็นได้เฉพาะเพื่อนในบัญชี Facebook เท่านั้น โดยมีการลงโฆษณาขายแพ็กเกจทัวร์ต่าง ๆ ไว้เป็นจํานวนมาก ผู้เสียหายได้ทําการจองและสั่งซื้อแพ็กเกจทัวร์กับบริษัท โดยโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝาก ธนาคารของบริษัทเพื่อชําระเงินค่าแพ็กเกจทัวร์ เมื่อถึงกําหนดการเดินทาง ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางได้ โดยเมื่อผู้เสียหายสอบถามไปยังบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด ทางบริษัทให้เหตุผลว่า วีซ่าของกรุ๊ปทัวร์ไม่ผ่าน หรืออ้างว่าบริษัทขาดสภาพคล่อง และจะขอให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าแพ็กเกจทัวร์เพิ่ม จากเดิมที่มีการตกลงกันไว้ แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอมและขอเงินคืนแต่ทางบริษัทก็พยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอด จึงมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลหัวหมากให้ดําเนินคดีกับบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด และนายภัทริคณ์ เรตะกุล ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดที่เกี่ยวข้องรวม ๓ คดี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาทั้งสองใน 3 คดีดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด โดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล กับพวก เป็นผู้มีพฤติการณ์กระทําความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด โดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด โดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือ ซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว พร้อมดอกผล มีกําหนด ไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2563
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จํากัด จดทะเบียนวันที่ 13 กันยายน 2556 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายสบู่ เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์ใช้ทำความสะอาด ที่ตั้งเลขที่ 11 ถนนเปรมประชาราษฎร์ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน นายภัทิคณ์ เรตะกุล ถือหุ้นใหญ่ 97.50% นางขันทอง ดีพิชัย และ นายอัครเดช รุ่งโรจน์วิริยะกุล ร่วมถือหุ้นและร่วมเป็นกรรมการ แจ้งว่ไม่มีรายได้หลายปีติดต่อกัน มีบริษัทในเครือข่ายอีกอย่างน้อย 2 บริษัท ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ (อ่านประกอบ : แกะรอย บ.อีแอลซีฯ ทุน 2 ล. โดนร้องเรียนจัดทัวร์ท่องเที่ยวตปท.ราคาถูก เสียหายหลักร้อยล.)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/