สธ. พบผู้ป่วยหญิงเพิ่ม 1 ราย ทำงานร่วมผู้ป่วยชาย 'พนักงานขับรถ'- กลับบ้านเพิ่ม 1 ราย ยอดรวมติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 43 คน ประชุมวิดีโอทางไกล สั่ง สสจ. ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือภาวะวิกฤต เเม้ล่าสุด ไทยยังอยู่ระยะ 2 ร่วมมือ ก.มหาดไทย ตั้งคกก.โรคติดต่อจังหวัด ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ตามกม.เคร่งครัด
วันที่ 2 มี.ค. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายเเพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด -19 (COVID-19) ว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหาย เเละสามารถกลับบ้านเพิ่มได้ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 43 ปี จากโรงพยาบาลราชวิถี โดยติดเชื้อไวรัสฯ จากประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยหญิงไทยเพิ่มอีก 1 ราย อายุ 22 ปี ทำงานร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 37 ชายพนักงานขับรถให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงที่ได้มีการติดตามดูเเล เเละพบผลบวก ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 11 ราย จากยอดรวม 43 คน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังระบุถึงเเผนการปรับเเนวทางการคัดกรองพื้นที่ โดยปรับนิยาม ดังนั้นการตรวจหาผู้ป่วย COVID-19 ได้ขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังต่อส่วนโรคเพิ่มไปยังกลุ่มการป่วยที่เป็นกลุ่มก้อนของผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจตั้งเเต่ 5 คนขึ้นไป ของผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยงหรือเป็นบุคลากรทางการเเพทย์ หรืออาการโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ได้ปรับห้องเเล็ปในการตรวจครอบคลุม ขอให้ไว้วางใจ เเละหากมีอาการผิดปกติ ให้โทร 1422 โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเอง เพราะจะมีทีมเข้าไปดูเเลเเละให้คำปรึกษา
พร้อมยืนยันว่า ไทยยังอยู่ในระยะ 2 อย่างไรก็ตาม ได้มีการประชุมวิดีโอทางไกลร่วมกับนายเเพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้จัดหาทรัพยากรต่าง ๆ เครื่องมือ โดยให้ตรวจสอบในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลจังหวัด เเละประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด ภายใต้ความร่วมมือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำงานในรูปเเบบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อทำให้การทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยมีเเนวทางดำเนินการ ดังนี้
1.เฝ้าระวัง ป้องกัน เเละควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในราชอาณาจักรเเละช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด
2.ปฏิบัติตามเเนวทางวินิจฉัย การดูเเลรักษาเเละป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาล กรณีโรคไวรัสโควิด-19 ตามที่กรมการเเพทย์ เเละคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดไว้เคร่งครัด เเละประสานการปฏิบัติหน่วยบริการสาธารณสุขทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐเเละเอกชน ให้เกิดการบูรณาการในด้านการรักษา ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
3.บริหารจัดการทรัพยากรที่จำเป็น 18 รายการ ในระดับจังหวัดเเละเขตสุขภาพ ครอบคลุมโรงพยาบาลภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดมหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน ถ้ามีความจำเป็นขาดเเคลนอุปกรณ์ใด ๆ ให้ประสานทำข้อมูลขอสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการด้านการเเพทย์ฉุกเฉินเเละสาธารณสุขเพื่อให้พร้อมใช้ คุ้มค่า เเละปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
4.กรณีประชาชนเดินทางกลับจากประเทศมีความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนดหรือสถานที่มีการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ขอให้ปฏิบัติตามคำเเนะนำของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
5.กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ การใช้หน้ากากผ้า การหลีกเลี่ยงที่ชุมชน การไม่ไปต่างประเทศในช่วงเวลานี้ เเละทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ ทำร่างกายให้เเข็งเเรง
6.ประชุมเเละสั่งการในระดับจังหวัดเเละเขตต่อเนื่อง โดยใช้กลไกการทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดเเละมีการเตรียมความพร้อม หากพบว่าระบาดในวงกว้าง ตั้งเป้าให้รับทราบ ทำความเข้าใจ ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเเละผู้บริหาร ตั้งเเต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมา
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเเจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนวันเเรก ตั้งเเต่เวลา 09.00 น. เเต่ละคนสามารถรับได้ 1 ชุด ชุดละ 3 ชิ้น โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดให้บริการทั้งหมด 9 จุด ในกรมต่าง ๆ จุดละ 10,000 ชิ้น ได้เเก่ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับที่ลานโถง อาคาร 3, สำนักงานคณะกรรมการอาหารเเละยา (อย.) รับที่อาคาร 1, กรมการเเพทย์ รับที่อาคาร 1, กรมอนามัย รับที่อาคาร 1, กรมควบคุมโรค รับที่อาคาร 1, กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ รับที่ศูนย์บริการวัน สต็อป เซอร์วิส, กรมสุขภาพจิต รับที่อาคาร 1, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รับที่ชั้น 1 เเละกรมการเเพทย์เเผนไทยเเละการเเพทย์ทางเลือก รับที่อาคาร 1
ทั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้เข้ามารับเเจกหน้ากากอนามัย จะเป็นบุคลากร เจ้าหน้าที่ ของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ประชาชนทั่วไปมีจำนวนน้อย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มีการนำประทับรอยหมึกหรือขีดปากกาดำบนหลังมือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ารับการเเจกเเล้ว ป้องกันการเวียนซ้ำ
ยกเว้น ผู้ที่รับการเเจกจาก อย. จะไม่มีการทำสัญลักษณ์ ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ รับทราบเหตุผลว่า เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ของประชาชน เเละการประทับรอยหมึกหรือขีดปากกาเป็นสัญลักษณ์บนหลังมือ จะทำให้เกิดเชื้อโรคได้
น.ส.พีระยา บุญช่วย อายุ 15 ปี ประชาชนกรุงเทพฯ กล่าวว่า มีโอกาสมารับหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะเเม่ทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข อีกอย่างในท้องตลาดหาซื้อยากเเละมีราคาเเพง อย่างไรก็ตาม มองว่า จะเป็นเรื่องที่ดีหากมีการนำไปเเจกให้ประชาชนตามจุดชุมชนต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟใต้ดิน เพราะจะเข้าถึงกลุ่มคนมากกว่า
ด้าน นางอังคณา จงเกษม อายุ 66 ปี ประชาชนกรุงเทพฯ กล่าวว่า มาค้าขายอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข จึงมารับเเจกหน้ากากอนามัย เเม้จะเป็นเรื่องทีดี เเต่มองว่า การเเจกครั้งนี้ยังจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม นั่นคือ บุคลากรเเละเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนที่อยู่รอบกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนอื่น ๆ ที่อยู่ไกล กลับไม่สามารถเข้าถึงบริการครั้งนี้ได้ เพราะการเดินทางมารับเเจกนั้น ไม่คุ้มค่าเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางเเล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขมีกำหนดเเจกหน้ากากอนามัยให้เเก่ประชาชนระหว่างวันที่ 2-6 มี.ค. 2563 โดยที่กระทรวงสาธารณสุข จะเเจก 2 วัน วันละ 100,000 ชิ้น ส่วนอีก 1.2 ล้านชิ้น จะกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ตามเขตบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/