ธปท.ขอความร่วมมือ 'แบงก์' ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจาก 'ไวรัส' เป็น 2 ปี ขณะที่เศรษฐกิจเดือน ม.ค.ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เกาะติดผลกระทบ 'โควิด-ภัยแล้ง'
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่มีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป
ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยมาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงรุก โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้
อาทิ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ต่ำกว่าร้อยละ 10 เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี ระหว่าง 1 ม.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564
ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ธปท. จึงได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง รวมทั้งการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
"ธปท. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการตามมาตรการข้างต้น และส่งผลให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ทันท่วงที ทั้งนี้สามารถติดตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ของแต่ละสถาบันการเงินผ่านเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆ และ ธปท." นายรณดล กล่าว
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.2563 ว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เห็นได้จากเครื่องชี้วัดต่างๆ เช่น การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคําที่หดตัว 1.3% การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรขยายตัวสูงขึ้น และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 แล้ว แต่ยังกระจุกตัวในกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตปาล์มน้ำมันเป็นหลัก ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนธ.ค.2562 ที่ระดับ 2% แต่เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้า-ออกสนามบิน 5 แห่งลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหายไป 90% หลังจากจีนสั่งห้ามทัวร์จีนออกนอกประเทศ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปกติ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลลดลงตามดุลการค้า ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องเกือบทั้งเดือน โดยเฉพาะหลังมีการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งทำให้นักลงทุนเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย
“เศรษฐกิจเดือนม.ค.ยังชะลอตัว แต่ในแง่เสถียรภาพถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบของแบงก์ชาติ ส่วนตลาดแรงงานยังมีความเปราะบาง ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในเดือนก.พ.-มี.ค.2563 คือ การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดตัวรุนแรงตั้งแต่เดือนก.พ.จากไวรัสโควิด ภัยแล้ง และต้องติดตามว่าการใช้จ่ายภาครัฐว่าจะเป็นอย่างไร หลังพ.ร.บ.งบปี 63 มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลเศรษฐกิจหรือไม่” นายดอนกล่าว
ดอน นาครทรรพ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/