‘อธิบดี คต.” เผยได้รับ ‘หมายบังคับคดี’ เรียกค่าจำเลยคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีแล้ว แต่ยังการสืบทรัพย์ยังเริ่มไม่ได้ เหตุต้องรอหนังสือแจ้งยืนยันบังคับคดี และข้อมูลสถานะทรัพย์สินของจำเลยก่อน ยันไม่มี ‘เกียร์ว่าง’ ลุยถก 5 หน่วยงานซักซ้อมแบ่งหน้าที่สืบทรัพย์ ขณะที่ ‘ศุภฤกษ์’ แย้งเดินหน้าสืบทรัพย์ได้ทันที ไม่ต้องรออัยการอีก
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับความคืบหน้าการสืบทรัพย์บังคับคดี หลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำเลย ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมฯได้รับหมายบังคับคดีจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปสืบทรัพย์และบังคับคดียังเริ่มไม่ได้ เนื่องจากต้องรอเอกสารสำคัญจากอัยการสูงสุด 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือการแจ้งยืนยันการบังคับคดี และข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานะและทรัพย์สินเบื้องต้นของจำเลย ซึ่งอัยการยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการ ส่วนการสืบทรัพย์อื่นๆเพิ่มเติมจากข้อมูลทรัพย์สินจำเลยที่อัยการส่งมาให้นั้น กรมฯและ 4 หน่วยงาน มีข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่าจำเลยมีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง และมีระยะเวลาในการตามสืบทรัพย์ 10 ปี
“การเข้าไปสืบทรัพย์และบังคับคดียังมีขั้นตอนอีก 2 ขั้นตอน โดยฉพาะการส่งข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งเมื่อเราและอีก 4 หน่วยงาน ได้ข้อมูลจากสำนักงานอัยการแล้ว ก็จะเข้าไปตรวจสอบการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน เช่น เข้าไปถ่ายรูป และตรวจดูว่าสถานะเป็นอย่างไร จากนั้นจะส่งเรื่องไปให้กรมบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์ต่อไป ซึ่งการขั้นตอนจากนี้ไป ยืนยันว่าไม่ช้าแน่ และเราก็เคยทำมาแล้วตอนยึดทรัพย์ในคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่” นายกีรติระบุ
นายกีรติ ระบุว่า แม้ว่าการเริ่มสืบทรัพย์จะมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการอีก แต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมฯได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 4 หน่วยงาน คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เข้าประชุมหารือ เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการสืบทรัพย์และยึดทรัพย์จากจำเลย โดยมีอธิบดีอัยการเข้ามาร่วมประชุมและชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆด้วย
“เราและอีก 4 หน่วยงานได้มีการซักซ้อมขั้นตอนต่างๆ โดยมีท่านอธิบดีอัยการมาร่วมชี้แจงด้วย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ส่วนการแบ่งงานการสืบทรัพย์ ได้มีการแบ่งงานกันคร่าวๆแล้วว่าจะร่วมกับกรมบังคับคดีอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่มีอีกหลายประเด็นที่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม โดยทุกหน่วยงานในที่ประชุมคำนึงถึงเรื่องกรอบเวลา แต่การดำเนินการต่างๆต้องไม่เกิดความเสียหายแก่รัฐ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกียร์ว่าง”นายกีรติกล่าว
ขณะที่นายศุภฤกษ์ เอี่ยมละออ รักษาการผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ทั้ง 5 หน่วยงาน มีหน้าที่สืบทรัพย์จากจำเลยทั้ง 28 รายได้ทันที เมื่อทราบว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง ก็ส่งเรื่องให้กรมบังคับคดียึด อายัดทรัพย์ นำทรัพย์สินขายทอดตลาด และส่งเงินคืนแผ่นดินไป ไม่จำเป็นต้องไปรอหนังสือจากอัยการ หรือต้องไปถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกว่าจะยึดทรัพย์ได้ทันทีหรือไม่
“อัยการไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฯ แต่คนที่เป็นเจ้าหนี้ คือ 5 หน่วยงาน ไม่ต้องรออัยการก็ได้ การสืบทรัพย์และส่งเรื่องยึดทรัพย์ทำได้เลย แล้วจะรออะไรอีก” นายศุภฤกษ์กล่าว
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (7) เส้นทางเงิน 685 ล. โอนเข้าบัญชี 'น้องเสี่ยเปี๋ยง'
เจาะ 5 เอกชนทุจริตข้าวจีทูจี ‘รายได้หด-ขาดทุนอื้อ’หาเงินจากไหนคืนรัฐ 2.9 หมื่นล.?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/