'ช่อ-พรรณิการ์ วาณิช' อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภารบ.'บิ๊กตู่' คดีทุจริตกองทุน 1MDB มาเลเซีย แฉหลักฐานไทยให้ความช่วยเหลือกักขังพยานคนสำคัญ ขนาดเอฟบีไอมาขอพบยังไม่ได้ ก่อนสั่งเนรเทศ 100 ปี แถมยังปล่อยให้ 'โจ โลว์' ผู้ถูกกล่าวรายสำคัญ บินเข้าออกไทยโดยอิสระ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2563 ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ ฝั่งธนบุรี ได้จัดกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกรัฐสภา โดย น.ส.พรรณิการ์ วาณิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอภิปรายถึงกรณีการทุจริตกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย ในประเด็นเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่อว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการควบคุมตัวพยานคนสำคัญเพื่อขัดขวางการสอบสวนคดีนี้ของหน่วยงานสอบสวนต่างประเทศ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอ้างว่า จุดเริ่มต้นของปัญหานี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2557 หลังการรัฐประหารในไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกำลังประสบปัญหากับการขาดทุนกองทุน 1 MDB และมีการมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซียเดินทางมาพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2557 หลังการรัฐประหาร เพื่อแสดงท่าทียอมรับการรัฐประหารของประเทศไทย ซึ่งจะขอเรียกว่า พันธมิตรมืด ก่อนที่ทางการไทยจะให้ความช่วยเหลือในการควบคุมตัวพยานคนสำคัญในคดีนี้ ที่นายนาจิบ ต้องการจะปิดปาก หนึ่งในนั้น คือ นาย ซาเวียร์ จัสโกร พนักงานของบริษัทเปโตรซาอุดิชาวสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในกองทุน 1MDB และเป็นผู้เปิดโปงกรณีการทุจริตในกองทุน 1MDB
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอ้างว่า มีข้อมูลว่า ในช่วงเดือน มิ.ย. 2558 นายซาเวียร์ถูกจับกุมโดยตำรวจไทยและถูกจำคุก โดยไม่มีการบอกนายซาเวียร์ว่าจับกุมข้อหาอะไร มีแต่การยื่นหมายจับเป็นภาษาไทยเท่านั้น
"ที่ผ่านมาได้เคยพูดคุยนายซาเวียร์ ซึ่งนายซาเวียร์เข้าใจว่าตัวเขานั้นติดคุกข้อหาว่าค้ายาเสพติด แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการแถลงต่อสาธารณะว่านายซาเวียร์ว่านั้นถูกจับกุมในข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ โดยคำฟ้องของตำรวจไทยพบว่าบริษัทเปโตรซาอุดิเป็นผู้ประสานงานกับตำรวจไทยให้ดำเนินการจับกุม นายซาเวียร์ โดยนายแพทริค มาฮอนีย์ ผู้จัดการของบริษัทเปโตรอ้างว่าในปี 2556 นั้นทางบริษัทได้ถูกนายซาเวียร์เรียกทรัพย์สิน 83 ล้านบาท เพื่อแลกกับการที่เขาจะไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของบริษัท แต่มีข้อมูลหลักฐานยืนยันว่า ตลอด 1 เดือน ที่ถูกจับกุมตัว นายซาเวียร์ ถูกกล่อมให้รับสารภาพ โดยผู้เข้าเป็นเยี่ยมนายซาเวียร์เป็นคนแรกก็คือนายแพทริค มาฮอร์นี่ ซึ่งเป็นผู้ที่ฟ้องร้องนายซาเวียร์นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ ยังกล่าวอ้างว่า ได้รับการยืนยันข้อมูลจากนางลอร่า ภรรยาของนายซาเวียร์ ว่า สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐหรือเอฟบีไอ ได้มาติดต่อกับนางลอร่าโดยตรง และเอฟบีไอยังได้พยายามที่จะติดต่อเพื่อจะเข้าไปสอบปากคำนายซาเวียร์ถึง 3 ครั้งในเรือนจำคลองเปรม แต่สุดท้ายก็ได้รับการปฏิเสธ ทางเอฟบีไอ จึงต้องไปติดต่อนางลอร่าที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่นางลอร่าจะเขียนจดหมายไปถึงนายซาเวียร์ ลักลอบนำข้อมูล 1 MDB มาจากเรือนจำของไทย เพื่อให้เอฟบีไอมีความสามารถสอบสวนเรื่องนี้ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่น่าสงสัยอีกว่าทำไมถึงต้องปิดกั้นการเข้าถึงตัวนายซาเวียร์ของเอฟบีไอ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดแล้วนายซาเวียร์ก็รับสารภาพว่าตัวเขานั้นได้กุเรื่องทุจริต1MDB ขึ้นจริง ซึ่งคำสารภาพของนายซาเวียร์นั้นก็เป็นที่รับรู้กันทั้งโลกแล้วว่าเป็นเรื่องไม่จริง เพราะว่ามีการสืบสวนและเปิดโปงจนพบแล้วว่าโครงการ 1MDB นั้นเป็นการทุจริตระดับโลก
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า "ความผิดปกติอีกประการก็คือเมื่อนายซาเวียร์ได้สารภาพแล้วและต้องโทษจำคุก 3 ปี จากโทษเต็ม 6 ปี ก็มีความพยายามจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ที่จะเอาตัวนายซาเวียร์กลับประเทศโดยตลอด โดยตอนแรกบอกว่าในช่วงเดือน ก.ย. 2559 นายซาเวียร์นั้นจะได้รับการส่งตัวกลับสวิตเซอร์แลนด์ แต่ในเดือน ก.ย. 2559 ดีลนี้ก็ล่มในช่วงเวลาที่นายนาจิบได้มาเยือนประเทศไทย ต่อมานายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย ได้รับการย้ำเตือนจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องการส่งตัวนักโทษข้ามแดน แต่กระทรวงต่างประเทศก็ยังคงปฏิเสธที่จะส่งตัวนายซาเวียร์กลับไป จนทำให้กระทรวงต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ต้องออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ ส่วนทางด้านกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทยก็อ้างว่าไม่สามารถส่งตัวได้เพราะว่านายซาเวียร์เพราะว่านายซาเวียร์เหลือโทษไม่ถึง 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามนายซาเวียร์ก็ได้รับการส่งตัวกลับประเทศในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 และถูกต้องห้ามไม่ให้เข้าประเทศไทยถึง 100 ปี ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นทีน่าสงสัยเป็นอย่างมากว่าในคดีพยายามกรรโชกทรัพย์ซึ่งมีความผิด 6 ปี รับสารภาพลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งนั้นคือ 3 ปีนั้น ทำไมถึงต้องโทษแบนไม่ให้เข้าประเทศไทยยาวนานเช่นนี้
อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังพบข้อมูลด้วยว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 1MDB หลายคน สามารถบินเข้าออกประเทศไทยได้อย่างเสรี แม้ว่าจะมีหมายแดงจากตำรวจสากลก็ตาม อาทิ นายโจ โลว์ นักธุรกิจชาวมาเลเซีย ซึ่งมีส่วนในการโอนถ่ายเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทจากกองทุน 1MDB ไปปรากฏอยู่ในบริษัทข้ามชาติ (Offshore Company) และบัญชีธนาคารมากมายในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เคยอาศัยที่ จ.ภูเก็ต อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และนายตัง เค็ง ฉี (Tang Keng Chee) ก็เคยกบดานที่บ้านคนในเครื่องแบบในที่เขาใหญ่ และเพิ่งออกจากประเทศไทยไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจและดำเนินการสอบสวนกรณีทุจริต 1MDB อย่างจริงจัง จนเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีส่วนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในประเทศไทยต้องออกจากประเทศไทยไป โดยเฉพาะนายโจโลว์ซึ่งไม่เคยมาที่ประเทศไทยอีกเลยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นอีกประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือทำไมประเทศไทยถึงยินยอมที่จะให้ผู้ที่ถูกหมายจับเป็นหมายแดงจากตำรวจสากลเข้ามาพำนักพักพิงได้ พร้อมเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตอบคำถามชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อสังคม
"นายตัน เค็ง ฉี ยังได้รับการคุ้มครองจากบุคคลอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเราขอเรียกว่า นาย พ. ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทย ที่กำลังถูกสหรัฐสอบสวนเรื่องความเกี่ยวพันกับการฟอกเงินของโจโลในระดับที่เป็นกระเป๋าเงินให้โจโล ซึ่งตำรวจไทยมีข้อมูลทั้งหมดนี้ว่า นาย พ. ใช้บัตรเครดิตของตัวเองจองที่พักให้โจโลในเมืองไทย คนขับรถ และพนักงานในบริษัทของนาย พ. คนนี้ อำนวยความสะดวกให้ตัน เค็ง ฉี และจัสมินในระหว่างที่อยู่ที่ประเทศไทย ตำรวจไทยมีข้อมูลทั้งหมด แต่กลับไม่ได้มีการสอบสวนใดๆในเรื่องนี้เลย ประเทศไทยไม่ได้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เปิดการสอบสวนคดีนี้ เกิดอะไรขึ้น ซึ่งนาย พ. คนนี้ไม่ใช่คนแปลกหน้าของสำนักกงานตำรวจ (สตง.) บริษัทของเขาเป็นคู่สัญญาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศกับ สตง. ตำรวจรู้จักเขาแน่นอน นี่เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่า เครือข่าย 1MDB ใช้ประเทศไทยอย่างสนุกสนาน มีการช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบ" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานที่มาที่ไปของกองทุน 1MDB ดังกล่าวไปแล้วว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปีพ.ศ.2552 ที่นายนาจิบได้ก่อตั้งกองทุนแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า 1MDB ซึ่งเป็นชื่อของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศมาเลเซียที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยกระทรวงการคลังมาเลเซีย
กองทุน 1MDB มีนายนาจิบทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะกรรมการที่ปรึกษาและมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อระดมทุน บริหารจัดการกองทุนในการริเริ่มพัฒนากลยุทธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่และเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเน้นการลงทุนในเรื่องพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวและการเกษตร 1MDB เริ่มต้นดำเนินการด้วยการซื้อบริษัทเอกชนด้านพลังงานและวางแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และต่อมาก็ได้มีส่วนร่วมกับโครงการขนาดใหญ่ของประเทศมาเลเซียในหลายโครงการ
โดยที่ผ่านมาบริษัทโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) บริษัทวาณิชธนกิจ ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ดำเนินการเปิดขายตราสารของ 1MDB ได้รับค่าตอบแทนไปกว่า 593 ล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท
แต่แทนที่จะกลายเป็นแหล่งเงินทุน กองทุน 1MDB กลับกลายเป็นแหล่งสะสมกองหนี้ขนาดใหญ่ โดยที่มาของเงินทุนนั้นเป็นเงินกู้จำนวนกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งมากเกินกว่าที่จะสามารถชำระดอกเบี้ยกู้ยืมดังกล่าวคืนได้ นอกจากนั้นการลงทุนอีกจำนวนกว่าหลายร้อยล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในงานศิลปะ อัญมณีและเครื่องประดับ อสังหาริมทรัพย์และการเสี่ยงโชคต่าง ๆ ของกองทุน ก็เหมือนกับว่าจะไม่เห็นผลตอบแทนการลงทุนเลย
โดยคู่แข่งทางการเมืองของนายนาจิบได้เคยกล่าวเสียดสีเอาไว้ว่า กองทุนควรจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หนี้พันล้านของ1MDB
จนกระทั่งในที่สุด เมื่อช่วงเดือน ส.ค.2557 นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศมาเลเซีย ถึงกับต้องถอนการสนับสนุนอดีตนายกนาจิบและเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กองทุน 1MDB มากขึ้นและเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดกับประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องหนี้ของกองทุน ซึ่งทะยานสูงถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณเกือบ 3.5 แสนล้านบาทในช่วงเดือน พ.ย.ในปีเดียวกัน (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยโกง 1MDB ก่อนสหรัฐคืนเงินค่าทำหนัง 1.7 พันล้าน ให้มาเลย์ฯ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/