กรมเด็ก เปิดรับฟังความคิดเห็น รอบ 2 ร่างบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เฝ้าติดตามคุกคาม เเสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ขณะที่ UN เตรียมประชุม 20-27 เม.ย. 63 ยกระดับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่อาคาร KX ถ.กรุงธนบุรี กรมกิจการเด็กและเยาวชน ภายใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างบทบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ภายใต้ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ องค์การสหประชาชาติจึงให้ความสำคัญกับปัญหาภัยออนไลน์ โดยทราบมาว่าในการประชุม UN Crime Congress ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย. 2563 ที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อระดมสมองหาวิธีรับมือในระดับระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีการเตรียมการรับมือกับปัญหานี้มาเป็นเวลากว่า 1 ปี แล้ว โดย คณะอนุฯ ออนไลน์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ได้แก่ การเฝ้าติดตามคุกคามออนไลน์ การระรานทางออนไลน์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เช่น การพูดคุยหรือส่งสื่อลามกอนาจารไปให้เด็ก ชักจูงให้เด็กทำตาม โดยที่เด็กยังไม่รู้เรื่อง หรือไม่ได้มีความสนใจในเรื่องเพศ การเข้ามาตีสนิทสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหรือสร้างบุญคุณให้เด็กเพื่อล่อลวงหาประโยชน์ทางเพศ จึงได้ขอให้ คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้ กดยช. เช่นเดียวกัน ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการยกร่างกฎหมายที่ครอบคลุมฐานความผิดเหล่านี้ขึ้นมา
ด้าน นายประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการพิเศษฝ่ายยุทธศาสตร์และฐานข้อมูลคดีค้ามนุษย์ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะเป็นประธานคณะทำงานยกร่างกฎหมาย เพื่อกำหนดให้พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นการกระทำผ่านสื่อออนไลน์ที่แต่เดิมไม่เป็นความผิด มาบัญญัติแทรกไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นความผิดและมีโทษ กล่าวว่า การร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีการแทรกไว้ใน 2 ประเภทความผิดหลัก ๆ อันประกอบไปด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ตัวอย่างเช่น การกระทำที่เป็นการสื่อสารเรื่องทางเพศโดยปราศจากเหตุอันควรกับบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี (sexting) และการล่อลวงเด็กและเยาวชนที่เป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคม (online grooming) จะนำไปบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ และการกระทำที่เป็นการคุกคาม (stalking) และการระรานออนไลน์ (cyber bullying) จะนำไปแทรกไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
ขณะที่ ดร. มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในทีมร่างกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการมีกฎหมายจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการแก้หรือลดปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่การไม่มีกฎหมายเอาผิดเพื่อเป็นการปรามไม่ให้คนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ทำให้การต่อสู้กับภัยร้ายชนิดนี้เป็นไปได้ยากขึ้น ร่างกฎหมายนี้จะค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้นด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไป ครั้งนี้เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายเป็นรอบที่ 2 โดยมีการพิจารณาร่างกฎหมายมาตราอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีการปรับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการแก้ไขกฎหมายใน 4 กลุ่มดังกล่าวด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกผลึกและเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบจากหลากมิติหลายมุมมอง เพราะเป็นการรับฟังจากทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย นักวิชาการทางกฎหมาย นักวิชาการทางเทคโนโลยี แพทย์ จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน หน่วยงานเอกชนและหน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองเด็ก และอีกหลายภาคส่วน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/