ศาลอาญาพิพากษาคุก 2 ปี ‘สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์’ อดีตแกนนำ พธม. ‘อัญชะลี-ภูวดล-ยุทธยง-ชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล’ คนละ 1 ปี คดีก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันบุกรุกและทำลายสถานที่ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวแบบไร้เงื่อนไข คนละ 2-3 แสนบาทสู้ชั้นอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวก ได้แก่ น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก ปัจจุบันเป็นพิธีกรชื่อดัง นายภูวดล ทรงประเสริฐ นายยุทธยง ลิ้มเลิศวาที และนายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล เป็นจำเลยที่ 1-5 กรณีถูกกล่าวหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ในการบุกรุกเข้าไปในบริเวณอาคารสำนักงานเอ็นบีที และทุบทำลายข้าวของในอาคารสถานีเอ็นบีที
โดยศาลอาญา พิพากษาจำคุก นายสมเกียรติ 2 ปี น.ส.อัญชะลี นายภูวดล นายยุทธยง และนายชิติพัทธ์ คนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา โดยจำเลยทั้ง 5 คนได้ยื่นประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข นายสมเกียรติ ตีราคาประกัน 3 แสนบาท ส่วน น.ส.อัญชะลี นายภูวดล นายยุทธยง และนายชิติพัทธ์ ตีราคาประกัน 2 แสนบาท
ศาลอาญา เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1-5 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยทั้ง 5 คน มีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง 5 และกลุ่มนักรบศรีวิชัยสมคบร่วมกันประชุมวางแผนกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐานจึงลงโทษฐานนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมสมคบคิดยึดสถานีเอ็นบีที ขึ้นเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ร่วมประกาศภารกิจ และร่วมเดินทางไปด้วยในลักษณะกำกับดูแล เป็นหัวหน้าเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 2-5 พยานหลักฐานยังไม่ชัดว่าเป็นหัวหน้าหรือมีหน้าที่สั่งการในการบุกยึด
กรณีนี้เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค. 2551 จำเลยทั้ง 5 กับพวกรวม 85 คนที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4504/2553 ของศาลอาญา กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่น ๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปบริเวณและอาคารสำนักงานเอ็นบีที ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้า ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณ การออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเยง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี
โดยจำเลยทั้ง 5 คน เป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309 ,358, 364, 365 จำเลยทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว เห็นว่า โจทก์มีพยานเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัยหลายปาก ผู้อำนวยการ และช่างภาพสถานีเอ็นบีทีเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมกันบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 25 ส.ค. 2551 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศว่า วันที่ 26 ส.ค. 2551 จะบุกสถานที่ราชการหลายแห่งรวมถึงสถานีเอ็นบีที
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลา 05.00 น. มีกลุ่มนักรบศรีวิชัยการ์ดของกลุ่มพันธมิตรฯ บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้ 85 คน หลังจากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่หน้าประตูทางเข้าออกด้านหน้าสถานี จนเวลา 08.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่พร้อมด้วยรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัย เคลื่อนที่มาถึงสถานีเอ็นบีทีหลายคัน ผู้ชุมนุมบนรถดังกล่าวผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาลและสถานีเอ็นบีทีว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ต้องการยึดเอ็นบีทีให้จอดำ และเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับไป
พยานโจทก์ยืนยันว่า ขณะนั้นอยู่ในลักษณะประจันหน้ากันที่ประตูรั้ว พยานเห็นจำเลยทั้ง 5 คนอยู่บนรถ และมีพยานจำเสียงของจำเลยที่ 2 ได้ โดยโจทก์มีภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานด้วย ต่อมากลุ่มพันธมิตรฯ พังประตูรั้วเหล็กฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสถานี จำเลยที่ 5 ประกาศต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจว่า ผู้ชุมนุมเป็นกองทัพประชาชน ผู้บัญชาการสั่งการให้มายึดเอ็นบีที ให้เจ้าพนักงานตำรวจออกจากอาคารสถานีไป กลุ่มพันธมิตรฯจึงยึดพื้นที่สถานีและอาคารดังกล่าวจนถึงเวลา 17.00-18.00 น.
นอกจากพยานในที่เกิดเหตุ โจทก์ยังมีพยานเจ้าพนักงานตำรวจผู้ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางช่องเคเบิลทีวี และผู้ถอดเทปคำปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกยึดสถานีเอ็นบีทีสอดคล้องต้องกัน
พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า กลุ่มพันธมิตรฯทั้ง 2 กลุ่ม คือนักรบศรีวิชัยที่บุกรุกเข้าในอาคารสถานีดังกล่าวเวลา 05.00 น. และจำเลยกับพวกทั้ง 5 คน ที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีดังกล่าวเวลา 08.00 น. มีเจตจำนงเดียวกัน และกระทำการต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเพื่อปฏิบัติภารกิจบุกยึดสถานีเอ็นบีทีให้บรรลุเป้าหมายที่แกนนำร่วมกันมีมติ เป็นการร่วมกันกระทำความผิด
ที่จำเลยที่ 1-4 อ้างว่า มีผู้ชุมนุมดาวกระจายไปที่สถานีเอ็นบีทีแล้วถูกจับกุมไป ยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ที่หน้าสถานี เมื่อทราบข่าวจึงเคลื่อนขบวนติดตามไปภายหลัง เพื่อนำมวลชนกลับมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยไม่ได้เข้าไปที่สถานี และจำเลยที่ 5 เป็นเพียงผู้ชุมนุมธรรมดาที่เดินทางไปร่วมชุมนุม ไม่ได้พูดประกาศต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://mgronline.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/