ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้อง ‘ทิพาพัชร์ เมฆะอำนวยชัย-พวก’ ปมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดีร่ำรวยผิดปกติ 29 ล้านเศษ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว - 'สามี' เคยแจง 'อิศรา' ปัดทุจริต ไม่เคยรู้จัก 'วีรยุทธ แซ่หลก'
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนางทิพาพัชร์ เมฆะอำนวยชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชี ระดับ 6 สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล กรณีถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ วงเงิน 29,582,615 บาท โดยไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้ และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘ซี 6’มหิดลรวยผิดปกติ 29 ล.-สามีแจง'อิศรา'ปัดทุจริต ไม่รู้จัก‘วีรยุทธ’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องนางทิพาพัชร์ เมฆะอำนวยชัย กับพวก รวม 2 ราย ในคดีดังกล่าวแล้ว และเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ศาลได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดหลังตรวจสอบพบว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กทม. 27 (บางรัก) ร่ำรวยผิดปกติกว่า 597 ล้านบาท
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย คู่สมรสของนางทิพาพัชร์ ซึ่งต่อมาได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด ในชื่อของนางทิพาพัชร์ และหรือนายสุรพล
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า นางทิพาพัชร์ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ คือ เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด ชื่อบัญชี นางทิพาพัชร์ และชื่อบัญชี นางทิพาพัชร์ และหรือนายสุรพล รวม 2 บัญชี เป็นเงินจำนวน 29,582,615 บาท จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี (ปัจจุบันคือศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ) เพื่อขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของนางทิพาพัชร์ สั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 80 (4)
อนึ่ง ในช่วงบ่าย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ก่อนหน้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยแพร่ มติชี้มูลความผิดนางทิพาพัชร์นั้น นายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เดินทางมายังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พร้อมชี้แจงว่า ภรรยาของตน (นางทิพาพัชร์) เป็นข้าราชการอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่เคยรู้จักกับนายสุวัฒน์ รวมถึงไม่รู้จักกลุ่มของนายวีรยุทธ แซ่หลก ผู้ต้องหาคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาทตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อปลายปี 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนภรรยาตน ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และได้อายัดทรัพย์สินไว้เป็นบัญชีเงินฝากจำนวนหลายบัญชี วงเงินหลายสิบล้านบาท จึงได้ทำหนังสือพร้อมพยานหลักฐานเข้าแจงอย่างน้อย 1 ครั้ง และทำหนังสือทวงถามไปถึง 3 ครั้งว่า ร่ำรวยผิดปกติ ในเรื่องใด และถูกกล่าวหาว่าทุจริตอะไร แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจง อย่างไรก็ดีเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. กลับมีหนังสือมาว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับภรรยาตนแล้ว ทำให้ต้องเข้าไปชี้แจงอีกครั้ง แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าภรรยาผิดอะไร กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือตอบกลับมาว่า ได้เพิกถอนการอายัดบัญชีเงินฝากต่าง ๆ แล้วหลายรายการ เหลือไว้เพียงบัญชีเงินฝากเดียว วงเงินมูลค่า 1 แสนบาท เท่านั้น
“อยากขอความเป็นธรรมไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยว่า กระบวนการต่าง ๆ ของ ป.ป.ช. ไม่เคยตอบกลับมาเลยว่า ภรรยาของผมผิดอะไร ทั้งที่ภรรยาผมเป็นข้าราชการ ทำงานสุจริตมาโดยตลอด แต่พอมาโดนอย่างนี้ เงินก็ถูกอายัด ฝากถอนไม่ได้ ก็เดือดร้อน และทำให้ภรรยาผมเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย” นายสุรพล กล่าว
ส่วนกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้เข้าไปสอบบัญชีให้บริษัทเครือข่ายนายวีรยุทธนั้น นายสุรพล กล่าวว่า ได้สอบบัญชีให้บริษัทของนายวีรยุทธแค่ 3 แห่ง และยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับนายวีรยุทธ รวมถึงนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร (ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่คดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท และร่ำรวยผิดปกติ) โดยในส่วนการเข้าไปสอบบริษัทของนายวีรยุทธนั้น มีบุคคลรายหนึ่งรู้จักกันผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นคนเอางานมาให้ เมื่อสุ่มตรวจแล้ว ไม่พบอะไรผิดปกติ จึงลงยืนยันรายงานผลการสอบบัญชีไป โดยก่อนหน้านี้เคยเข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วด้วย
ส่วนกรณีเคยทำธุรกิจกับนายสุวัฒน์นั้น นายสุรพล กล่าวว่า รู้จักกับนายสุวัฒน์จริง ยอมรับว่าเป็นเพื่อนกันเกินกว่า 10 ปี แต่ไม่อาจเรียกว่าทำธุรกิจด้วยกัน แค่ร่วมกันลงทุนมากกว่า เนื่องจากขณะนั้นต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินทรัพย์สินด้วย จึงหาคนมาร่วมลงทุนทำธุรกิจ อย่างไรก็ดีในช่วงหลังนายสุวัฒน์ได้ขายหุ้นให้กับบุคคลอื่นไปแล้ว และไม่ได้ร่วมลงทุนด้วยกันอีก และไม่ทราบว่านายสุวัฒน์หาเงินจากไหนมาร่วมลงทุนเช่นเดียวกัน แต่เท่าที่ทราบคือ ทางบ้านของนายสุวัฒน์ค่อนข้างมีฐานะอยู่แล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/