‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาด 1 เดือน ‘ไวรัสโคโรน่า’ สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจจีนกว่า 3 แสนล้านหยวน หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของจีดีพี แต่หากการระบาดยื้อเยื้อเกิน 3 เดือน ฉุดจีดีพีจีนต่ำกว่า 5%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์กรณีผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจจีนราว 3 แสนล้านหยวน หรือ 1.298 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน = 4.329) ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP จีนทั้งปี
ขณะเดียวกัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนปี 2563 เติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ที่ 5.5-5.9% โดยผลกระทบหลักๆ จะอยู่ในภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว
สำหรับความเสียหายจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าพบว่าส่วนใหญ่ เป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน (1 สัปดาห์) ราว 2.15 แสนล้านหยวน หรือ 9.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด และคิดเป็น 16% ของมูลค่าเงินที่หมุนเวียนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคในปี 2562 ส่วนผลกระทบอีก 8.5 หมื่นล้านหยวนจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของเดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า สถานการณ์การแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทั้งในจีนและนอกประเทศจีน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีตัวแปรหลักที่ต้องจับตาอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
1.ระยะเวลาและความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการระบาดอยู่ในช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มักมีการแพร่กระจายของโรคติดต่อในระบบ ทางเดินหายใจ ทำให้ความน่าจะเป็นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังมีอยู่สูงไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน
นอกจากนี้ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของทางการจีนที่เข้มข้นขั้นสูง อาจไม่สามารถบังคับใช้ให้เกิด ประสิทธิผลได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม อาทิ ความ ไม่พอใจของผู้คนในเมืองที่ถูกกักกันอาจทวีความรุนแรงขึ้น กิจกรรมในภาคส่วนอื่นของสังคมอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นอย่างภาคการศึกษา
ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยาวนานเกิน 3 เดือน โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 จะลงไปต่ำกว่า 5.0% ก็คงจะมีมากขึ้นตามลำดับ
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงที่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรค เพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่จำกัด หลังจากปี 2562 ทางการจีนขาดดุลงบประมาณในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 5% ของ GDP ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงการระบาดของ SARS ในจีนปี 2546 สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อตัวเลข GDP ของจีนอยู่ที่เพียงราว 2.1% เท่านั้น
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะคอยประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะมีการปรับปรุงตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หากมีพัฒนาการใหม่ของระดับความรุนแรง ขอบเขตและความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Corona virus (n-CoV) ในระยะข้างหน้า”รายงานระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก โดยในปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวจากจีน 10.99 ล้านคน โดยในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.2562 นักท่องเที่ยวจากจีนอยู่ที่ 3.12 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.72 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2562 อยู่ที่ 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.04 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.8% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด
อ่านประกอบ : ‘ไวรัสโคโรน่า-งบปี’63 ช้า’ ฉุดศก.ไตรมาสแรก ‘ลงลึก’ แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีต่ำ 2.8%
เสวนาอิศรา-บสส. หาทางรอด ปท. กรณ์ จี้ รบ.ยอมรับ ศก.มีปัญหาจริง แนะแก้ไขด้วยกระจายรายได้
จีนเผยยอดติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 11,821 ราย ตายแล้ว 259 ศพ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/